หนีไม่พ้นปรับกฎหมายเป็นสากล กลต.จ้องเขม็ง “โทเคนเคอร์เรนซี”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หนีไม่พ้นปรับกฎหมายเป็นสากล กลต.จ้องเขม็ง “โทเคนเคอร์เรนซี”

Date Time: 25 พ.ย. 2563 09:07 น.

Summary

  • หลังกระทรวงการคลังมีประกาศให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นผู้คุ้มกฎ และออกระเบียบเงื่อนไขในการอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

หลังกระทรวงการคลังมีประกาศให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นผู้คุ้มกฎ และออกระเบียบเงื่อนไขในการอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

สำนักงาน ก.ล.ต.ประกาศวานนี้ (24 พ.ย.) ว่าเตรียมการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับการเสนอขาย โทเคนดิจิทัล พร้อมควบคุมบัญชีรายชื่อคริปโตเคอร์เรนซี เป็นสากล พร้อมขยายขอบเขตการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้ครอบคลุมการซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกช่องทาง (Trading Platform/vennue)

ปัจจุบันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นการซื้อ-ขาย คริปโตเคอร์เรนซี โดยมีการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.11 เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 300,000-350,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9-10.5 ล้านล้านบาท เป็นโอกาสสำหรับการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

เปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้นายปิ่นปราชญ์ จักกะพาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการศูนย์การซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) จากกระทรวงการคลัง และความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. มีทุนจดทะเบียน 85 ล้านบาท เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เอเลเวตเท็ด รีเทิร์นส์ (Elevated Re turn:ER) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่าโอกาสเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างทางกฎหมายที่รองรับการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้ Facebook, Instagram และ Mobile Banking มากที่สุดในภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจนี้จะเติบโตในประเทศไทย

“จุดเด่นของการออกสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ที่มีสินทรัพย์จริงหนุนหลังอยู่ หรือจะเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ที่กำหนดสิทธิให้ผู้ถือโทเคนได้รับสิทธิในสินค้า และบริการต่างๆตามที่กำหนดไว้ เป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าเขากำลังลงทุนในอะไร และมีผลตอบแทนที่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีเงินจำนวนไม่มากสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่าย ผ่านการสมัครแอปพลิเคชันของศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล เรียกว่าเป็นการลงทุนที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นหรือในตราสารหนี้ที่ต้องใช้เงินลงทุนในจำนวนที่สูงกว่า”

ให้นักลงทุนมีทางเลือกการออม

ปัจจุบันได้เปิดให้นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีกับบริษัทได้แล้ว และคาดว่าจะมีสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบของโทเคนดิจิทัล เข้าซื้อขายได้ไม่น้อยกว่า 3 ตัวในปีนี้ สินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับการลงทุน แต่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ โดยมีกระบวนการระดมทุนที่สั้น และกระชับกว่าการขายหุ้น หรือการออกหุ้นกู้ที่มีกระบวนการ และขั้นตอนในการระดมทุนที่นานกว่า

ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็มีทางเลือกในการบริหารจัดการเงินออมของตัวเองให้มีผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน แต่ที่ลืมไม่ได้คือ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจในสินค้าที่ตัวเองก่อนการตัดสินใจเข้าไปลงทุน

ด้านนายอัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสอี ดิจิทัล จำกัด บริษัทที่ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ที่เรียกว่า ICO Portal (Initial Coin Offering Portal) บริษัทในเครือของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการทุกระดับทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ สามารถระดมทุนในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ “ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ทุกคนจะไปนึกถึงคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) หรืออิเทอร์เรียม (Ethereum) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นเงินที่ธนาคารกลางทั่วโลกยอมรับ...

ขณะที่จริงๆแล้ว สินทรัพย์ดิจิทัลมีมากกว่าคริปโตเคอร์เรนซี ปัจจุบันก็มีการพัฒนาออกมาอยู่ในรูปแบบของหน่วยลงทุนทางดิจิทัลที่เรียกว่า โทเคนดิจิทัล (digital token) ที่มีรูปแบบของการลงทุนสามารถอ้างอิงกับสินทรัพย์การลงทุนปกติ (Traditional Asset) ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจจ่อผู้ลงทุนและสามารถจับต้องได้มากกว่าคริปโตเคอร์เรนซี”

เสนอขาย “โทเคนดิจิทัล”

ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ต้องการระดมทุนโดยการออกโทเคนดิจิทัล โดยผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมให้สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี พ่วงกับสัญญาที่ให้ผู้ลงทุนในโทเคนดิจิทัล สามารถที่จะใช้บริการโรงแรมในเครือให้ได้ส่วนลดในอัตราร้อยละ 50 บริษัท ICO Portal ในฐานะที่เป็นผู้กลั่นกรองการระดมทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคล้ายๆกับที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจและให้คำแนะนำกับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนต่อไป

“โครงสร้างของธุรกิจมีความใกล้เคียงกับการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (Initial PublicOffering: IPO) แต่ ICO จะมีกระบวนการทำงานที่สั้นและกระชับมากกว่า เพราะเราไม่ได้ขายหุ้นของบริษัท แต่ขายสินค้าหรือบริการของธุรกิจนั้นๆ แยกออกมาเป็นส่วนๆต่างหากจากบริษัท เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการระดมเงินทุนมาใช้ในการขยายธุรกิจได้เร็วขึ้นในต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าการออกหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นกู้ ในขณะที่ผู้ลงทุนก็มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น” นายอัฏฐ์กล่าว

นายอัฏฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายรองรับการออกสินทรัพย์ดิจิทัลคือ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 และมีผู้ประกอบการที่สนใจจะออกสินทรัพย์ดิจิทัลหลายบริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างการ ศึกษาและมีแผนที่จะออกสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างน้อย 3 บริษัท มูลค่าไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่บริษัทเป็น ICO Portal ให้ และว่า ในปี 64 จะมีธุรกิจที่มีแผนในการออกสินทรัพย์ดิจิทัลอีกไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก สุขภาพ บริษัทเกี่ยวกับธุรกิจเช่าซื้อ เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ