บิล เกตส์ : ชีวิตหลังโควิด

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บิล เกตส์ : ชีวิตหลังโควิด

Date Time: 24 พ.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • เคยพูดไว้บนเวที TED Talks เมื่อปี 2558 ว่า “หากมีผู้เสียชีวิตกว่า 10 ล้านคน ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า มันน่าจะเป็นไวรัสที่ติดเชื้อได้สูงมากกว่าสงคราม”

Latest

แมคโดนัลด์เปิด 3 สาขาใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวรับเทศกาลปีใหม่

เคยพูดไว้บนเวที TED Talks เมื่อปี 2558 ว่า “หากมีผู้เสียชีวิตกว่า 10 ล้านคน ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า มันน่าจะเป็นไวรัสที่ติดเชื้อได้สูงมากกว่าสงคราม”

ประเด็นที่บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของไมโครซอฟท์ หยิบยกขึ้นมาในครั้งนั้น กลายเป็นการคาดเดาอนาคตได้อย่างแม่นยำ ทำให้จากนั้น ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรเกี่ยวกับไวรัสโควิด ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นที่น่าสนใจไปเสียทั้งหมด

ล่าสุดเป็นอีกครั้งที่บิล เกตส์ พูดถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับชีวิตหลังโควิด โดยเขาคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดไว้ 7 เหตุการณ์ด้วยกัน ได้แก่

1.การประชุมทางไกลจะกลายเป็นเรื่องปกติ ก่อนเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด ลูกค้าอาจผิดหวังนิดๆ หากต้องประชุมออนไลน์ แต่โควิดทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

เหมือนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บรรดาผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้าน และหลังจากนั้นพวกเขาก็ออกมาทำงานหาเงินตลอดกาล เช่นเดียวกับโควิดที่ทำให้คนที่เคยปฏิเสธการประชุมออนไลน์หันมาสบายใจกับสิ่งนี้ และมันจะนำไปสู่พฤติกรรมออนไลน์อื่นๆ ตั้งแต่การเรียน การหาหมอ การประชุมฝ่ายขาย ที่จะได้รับความนิยมขึ้นแบบดีดเด้ง

2.ซอฟต์แวร์จะได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ไม่เฉพาะแค่พฤติกรรมออนไลน์เพื่อรักษาระยะห่างที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเท่านั้น การทำงานของซอฟต์แวร์ ซึ่งติดๆขัดๆ อยู่ก่อนหน้านี้ก็จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มกำลัง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคเช่นกัน

3.บริษัทจะแชร์ออฟฟิศร่วมกัน เพราะเมื่อคนทำงานที่บ้านมากขึ้น เข้าออฟฟิศน้อยลง บริษัทห้างร้านต่างๆ ย่อมต้องพิจารณานโยบายการใช้พื้นที่ออฟฟิศให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เราจึงอาจได้เห็นการแชร์พื้นที่กันระหว่าง 2 บริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วสลับวันกันเข้าใช้งาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย

4.ที่อยู่อาศัยที่แตกต่างออกไป การทำงานจากทางไกลจะไม่หยุดอยู่เพียงหลังโควิดจบสิ้น แต่มันจะดำเนินต่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้น เทรนด์ดังกล่าวย่อมกระทบต่อการเลือกชุมชนที่พักอาศัย บิล เกตส์ เชื่อว่าที่พักในเมืองจะลดความสำคัญและความน่าสนใจลง คนจะมองหาชุมชนที่กว้างขวางโอ่โถง แออัดน้อยกว่า เพราะไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานเหมือนก่อน และแน่นอนย่อมจะรวมถึงการออกแบบบ้านด้วย

เทรนด์นี้จะกระทบแม้ในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ตั้งแต่ซีแอตเติล ซานฟรานซิสโก แม้แต่กับคนที่เงินเดือนสูงๆ ที่เคยใช้เงินจำนวนมากลงทุนซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงในย่านดาวน์ทาวน์เมืองใหญ่ พวกเขาเหล่านี้จะเริ่มคิดใหม่ และมองหาสถานที่ซึ่งมีอาณาบริเวณ สงบ ร่มรื่น ในชุมชนห่างไกลออกไปหน่อยแทน

5.ปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงานจะน้อยลง ความแน่นแฟ้นในชุมชนที่อยู่อาศัยจะเพิ่มมากขึ้น บิล เกตส์ มองไกลออกไปอีกว่า การเพิ่มวันทำงานที่บ้าน จะทำให้พนักงานในออฟฟิศเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลงและหันไปสนิทชิดเชื้อกับคนในชุมชนที่พักมากขึ้น
นั่นเป็นเพราะหลังการทำงานที่บ้านอันแสนเหนื่อยล้า ผู้คนอาจต้องการการสังสรรค์เพื่อผ่อนคลาย ไม่ต่างอะไรกับการไป
ผับ บาร์ หลังเลิกงาน โดยเปลี่ยนเป็นการแฮงเอาต์แถวๆชุมชนที่พักอาศัยเป็นหลัก

6.ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป บิล เกตส์ ประเมินว่า แม้วัคซีนจะมีขึ้นในอีกไม่นานจากนี้ แต่ทุกอย่างจะยังไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม จน กว่ามนุษยชาติจะเอาชนะโรคจากไวรัสโควิด-19 ได้เบ็ดเสร็จ

“อาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำได้ แต่โรคก็จะไปโผล่ไประบาดในประเทศอื่นต่อ เพราะฉะนั้นผู้คนจะยังคงระมัดระวัง หากปล่อยปละ ละเลย การ์ดตก โอกาสเสี่ยงติดเชื้อยังคงสูงอยู่ โดยเฉพาะคนที่ต้องใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ

พลเมืองโลกมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตแบบใกล้เคียงปกติมากที่สุด เมื่อทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

7.โรคระบาดต่อจากนี้จะไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้ว แม้การคาดการณ์ของบิล เกตส์ จะบ่งชี้ว่าเราน่าจะยังไม่มีโอกาสชมคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่จุคนดูระดับหมื่นคนได้ในระยะเวลาอันใกล้ (อย่างน้อยคงไม่ก่อนเดือน เม.ย. ปีหน้า) แต่เขายังมีไอเดียด้านบวกที่พอเป็นกำลังใจ เพราะเชื่อว่าการแพร่ระบาดในครั้งนี้คือฝันร้ายอย่างแท้จริง ฉะนั้นโลกจะรับมือกับโรคระบาดครั้งหน้าได้ดีขึ้น เพราะเคยผ่านประสบการณ์อันแสนเลวร้ายมาแล้ว

“เหตุผลหลักที่ผมเชื่อแบบนั้น ก็เพราะพวกเราได้รับการฝึกฝนมาแล้ว การรับมือกับโรคก็เหมือนการเข้าสู่สงคราม ทุกประเทศจะสามารถรับมือกับเชื้อโรคได้แบบเกาหลีใต้และออสเตรเลีย ที่ซึ่งตรวจหาเชื้อโควิดได้อย่างรวดเร็ว มีการกักตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และชุดทดสอบคงได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เราคงไม่ทำผิดหรือโง่ซ้ำซาก”.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ