นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ต.ค. ว่า อยู่ที่ ระดับ 33.2 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. โดยปัจจัยหนุนคือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปีนี้ใหม่เป็นคาดว่าติดลบ 7.7% จากเดิมคาดว่าติดลบ 8.5%, มาตรการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปลายปี เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง, มาตรการช้อปดีมีคืน แต่ก็ยังมีปัจจัยลบคือ การชุมนุมทางการเมือง, ความวิตกกังวลต่อโควิด-19, ความกังวลสหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สินค้าไทยเพิ่ม, มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าเดือน ก.ย.ยังติดลบ, ตลาดหุ้นลดลง 42.09 จุด, เงินบาทแข็งค่า, ความวิตกต่อรายได้ การว่างงาน หนี้ครัวเรือน รวมทั้งไทยยังไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
“ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจดีขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 5 แต่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน และอนาคตยังต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่า ธุรกิจยังมีความกังวลต่อปัจจัยต่างๆสูง ประเด็นที่กังวลมากสุด คือ โควิด-19, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐออกมาใช้ได้ไม่เต็มที่ จากเหตุการชุมนุมทางการเมือง จนคนไม่มีอารมณ์ใช้จ่ายและท่องเที่ยวในเดือน ต.ค. นอกจากนี้ ยังพบว่าค่าดัชนีความ เชื่อมั่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และภาคเกษตรยังติดลบ ขณะที่ภาคบริโภค การลงทุน อุตสาหกรรม การค้า บริการ และจ้างงานยังเป็นบวก สะท้อนว่า ความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น มาจากมาตรการรัฐที่ออกมา และหลายฝ่ายมองว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2”
“สิ่งที่ธุรกิจทุกภาคต้องการระยะสั้นคือ การเปิดรับนักท่องเที่ยว อย่างช้าไม่ควรเกินเดือน ม.ค.2564 ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวด เพราะหากล่าช้าจะกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคการค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง และอาจเห็นภาพธุรกิจปิดตัว และเลิกจ้างงาน ส่วนไตรมาส 4 จากแรงส่งของมาตรการรัฐที่ทำอยู่ จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยวของคนไทยให้ดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ติดลบ 4-5% และทำให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจลบ 6.0-6.5%”.