นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากโครงการ “คนละครึ่ง” ได้เปิดให้ประชาชนใช้จ่ายมา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.63 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 พ.ย.63 เวลา 11.00 น. หรือเปิดให้ใช้จ่ายมาแล้ว 10 วัน จำนวนยอดใช้จ่ายสะสม 4,188.30 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ประชาชนจ่าย 2,139.93 ล้านบาท และรัฐช่วยจ่ายอีก 2,048.37 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 225 บาทต่อครั้ง โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ โดยมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 470,000 ร้านค้า
“ประชาชนที่ลงทะเบียนก่อนวันที่ 23 ต.ค.63 และได้รับ SMS ยืนยันสิทธิแล้ว ขอให้ติดตั้ง แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย และจะต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 5 พ.ย.63 ส่วนการใช้จ่ายนั้น ก่อนใช้จ่าย ต้องเติมเงินจำนวนเท่าใดก็ได้ เข้าไปในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก่อน จากนั้นจึงจะใช้สิทธิซื้อสินค้ากับร้านค้าที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.63 หากไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ จะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อีก”
ส่วนการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อสำรวจโครงการคนละครึ่งนั้น พบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนเข้าร่วมโครงการได้สำเร็จ หรือใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ไม่ได้ เพราะจำรหัสเข้าใช้งานไม่ได้ หรือสแกนหน้าไม่สำเร็จ จึงมารอเข้าคิวยืนยันตัวตนที่สาขาธนาคารกรุงไทยจำนวนมาก ซึ่งกรุงไทยได้เร่งเพิ่มเครื่องยืนยันตัวตนกว่า 1,000 เครื่องใน 200 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงเพิ่มจำนวนพนักงานอีก 20% ในแต่ละสาขา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนยืนยันตัวตนได้ทันท่วงที ป้องกันการถูกตัดสิทธิ รวมถึงแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ด้วย.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง