เมกะโปรเจกต์ใหม่ 1 ล้านล้าน กพอ.ลุยศึกษาเชื่อมความเจริญอีอีซีสู่ภาคอื่น

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เมกะโปรเจกต์ใหม่ 1 ล้านล้าน กพอ.ลุยศึกษาเชื่อมความเจริญอีอีซีสู่ภาคอื่น

Date Time: 6 ต.ค. 2563 06:20 น.

Summary

  • กพอ.สั่งเดินหน้าศึกษา 3 เมกะโปรเจกต์ใหม่ มูลค่ารวม 1.18 ล้านล้านบาท เชื่อมโยงความเจริญอีอีซีสู่ภูมิภาคอื่น และนานาชาติ ประกอบด้วย ท่าเรือบก 3 แห่ง แลนด์บริดจ์เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

กพอ.สั่งเดินหน้าศึกษา 3 เมกะโปรเจกต์ใหม่ มูลค่ารวม 1.18 ล้านล้านบาท เชื่อมโยงความเจริญอีอีซีสู่ภูมิภาคอื่น และนานาชาติ ประกอบด้วย ท่าเรือบก 3 แห่ง แลนด์บริดจ์เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน และสะพานไทย ถนน 4 เลนข้ามทะเล เชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า กพอ.เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน รวมการศึกษา 3 โครงการใหม่ที่จะเป็นยุทธศาสตร์เชื่อมโยงอีอีซีไปภูมิภาคอื่น

ประกอบด้วย 1.โครงการท่าเรือบก (Dryport) 2.โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนองแลนด์บริดจ์) และ 3.โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) มูลค่าทั้งสิ้น 1.18 ล้านล้านบาท โดยให้กระทรวงคมนาคม และ สกพอ.เน้นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (พีพีพี)

สำหรับโครงการท่าเรือบก จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน), นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว), ย่างกุ้ง เนปิดอว์ มัณฑะเลย์ (เมียนมา), ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) ส่วนไทยจะมี 3 แห่ง คือ ท่าเรือบกฉะเชิงเทรา มูลค่า 8,000 ล้านบาท ท่าเรือบกขอนแก่นและท่าเรือบกนครราชสีมา 16,000 ล้านบาท ใช้เวลาสำรวจออกแบบและก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จปี 2566-2567

ส่วนโครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จ.ระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าทางเรือในเอเชียใต้ ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จ.ชุมพร โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่งด้วยรถไฟทางคู่และทางหลวงมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมโยงอันดามันและอ่าวไทย รัฐบาลอนุมัติงบศึกษา
รูปแบบแล้ว 68 ล้านบาท ขณะที่โครงการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกระนอง-ชุมพร มูลค่า 15,037 ล้านบาท โครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์ 45,000 ล้านบาท รถไฟทางคู่สายใหม่พานทอง-หนองปลาดุก 95,000 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ช่วงประจวบฯ-ชุมพร 12,457 ล้านบาท

ขณะที่โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี จะก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรีและ จ.เพชรบุรี) ระยะทาง 80-100 กิโลเมตร ประหยัดเวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง มูลค่า 990,000 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2575 “สำหรับการลงทุนของอีอีซีขณะนี้ เดินหน้าต่อเนื่อง รวมมูลค่าถึง 1.58 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1.งบบูรณาการอีอีซี (โครงสร้างพื้นฐาน) 67,687 ล้านบาท 2.โครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (พีพีพี) ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ทำสัญญาแล้ว 527,603 ล้านบาท 3.ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ปี 2560-มิ.ย.2563 รวม 987,408 ล้านบาท”

ด้านนายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน จะมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ช่วยย่นเวลาการขนส่งสินค้าได้ 2 วัน ลดต้นทุนโลจิสต์เหลือไม่เกิน 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากปัจจุบันกว่า 13%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ