จี้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินผู้ประกอบการภายใน 30 วัน ชี้ที่ผ่านมาล่าช้ากว่า 4 เดือน ทำสภาพคล่องสะดุด พร้อมเปิดทางเลือกโอนให้แบงก์จ่ายแทนได้ นำเงินมาหมุนเร็ว ยอมจ่ายดอก เร่งขยาย บสย.ค้ำเงินกู้ 50% สร้างความมั่นใจให้แบงก์กล้าปล่อยกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้าน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ว่า ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ เร่งเบิกจ่ายเงินโครงการที่ผู้ประกอบการ ที่ได้ส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว ภายใน 30 วัน รวมทั้งให้สามารถโอนสิทธิ์การรับเงินให้กับธนาคารพาณิชย์ได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันหลายหน่วยงานของรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายล่าช้าหลายหน่วยงานใช้เวลาถึง 2-4 เดือน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอีได้อย่างมาก
“การโอนสิทธิ์ให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินได้ก่อน หมายถึงให้ผู้ประกอบการนำใบตรวจรับงาน ที่ภาครัฐออกให้ นำไปเบิกกับธนาคารพาณิชย์ ได้เลย อาจจะเบิกก่อน 70-80% แล้วให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยระหว่างที่ธนาคารพาณิชย์นำไปขึ้นเงินกับภาครัฐ หลังจากเบิกเต็ม 100% แล้วธนาคารพานิชย์ก็จะนำส่วนต่างที่เหลือมาให้ผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการก็พร้อมจ่ายดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมให้ธนาคารพาณิชย์”
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้กระทรวงการคลัง ปลดล็อกให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายวงเงินค้ำประกันเงินกู้จากเดิมสูงสุด 30% เป็น 50% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนวงเงิน 500,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากปัจจุบันที่ปล่อยกู้ไปได้น้อยมาก รวมทั้งต้องการเดินหน้าศึกษาการเจรจาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วน ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) และข้อตกลงทางการค้าเอฟทีเอกับประเทศต่างๆให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับประเทศไทย
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าตลาดแรงงานยังน่าเป็นห่วง เพราะมีผู้ว่างงานครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) รวมแล้ว 2.5 ล้านคน ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้พบว่าสภาพเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ที่ประชุม กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดไตรมาส 2 โดยยังมองกรอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรอบเดิม คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ 9 ถึง ติดลบ 7%