คอนเวิร์ส (Converse) ผุดไอเดียฟอกอากาศย่านมหานครทั่วโลก ผ่านถนนสายศิลปะ “Street Art” เริ่มแห่งแรกที่ “กรุงเทพมหานคร” ณ สวนเฉลิมหล้า ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชเทวี
ในอดีต “ถนนสายศิลปะ” มักถูกมองในแง่ลบที่ค่อนข้างขัดแย้งต่อสังคม และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ถูกมองว่าเป็นการแสดงความคิดสร้างสรรค์ และเป็นศิลปะที่แสดงออกถึงความเจริญของสังคมเมืองอย่างหนึ่ง
ดังนั้น Converse จึงมีแนวคิด ที่เตรียมจะออกโปรเจกต์ใหม่ เพื่อสิ่งแวดล้อม รณรงค์ไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก ผ่านการวาดภาพศิลปะบนจิตรกรรมฝาผนัง Street Art ซึ่งให้คำนิยามใหม่กับโปรเจกต์นี้ว่า “Converse City Forests” โดยเป็นการใช้สีชนิดพิเศษที่ช่วยฟอกอากาศด้วยการดูดซับมลพิษ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ที่ถูกปล่อยออกมาจากยานพาหนะ
สำหรับ Street Art จะถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างมีระบบ ระเบียบ ในจุดที่ง่ายต่อการมองเห็นในเขตพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละเมือง ซึ่งวัตถุประสงค์ของแบรนด์ จึงไม่ใช่แค่การให้ความหมายใหม่กับ Street Art แต่ยังเป็นการสร้างอากาศที่ดีขึ้น ผ่านการใช้สีชนิดพิเศษเหล่านี้ และยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางสังคม ที่สะท้อนผ่านพลังของศิลปะในการเชื่อมโยงถึงคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
และขณะที่เมืองต่างๆ กำลังถูกปลดล็อกและฟื้นฟูจากโรคระบาดของ Covid-19 ทาง Converse เชื่อว่ามีโอกาสในช่วงเวลานี้ที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการสร้างอากาศบริสุทธิ์ในเขตชุมชนเมือง จึงผุดไอเดียและกลยุทธ์ที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งที่ดีมอบให้กับสังคม โดยจะปลูกต้นไม้อย่างน้อย 3,000 ต้น ผ่าน Street Art ทั่วโลกในปีนี้
โดยกรุงเทพมหานคร จะเป็นเมืองแรกสำหรับโปรเจกต์ Converse City Forest และตามด้วยเมืองอื่นๆ อย่าง ซิดนีย์ มะนิลา จาการ์ตา วอร์ซอ เซาท์เปาโล และในอีกหลายๆ เมือง เนื่องจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักว่า เป็นประเทศที่มากด้วยวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และอยู่ในสังคมที่ต้องการความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สิ่งนี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ “กรุงเทพมหานคร” ได้รับการถูกเลือกให้เป็นเมืองแรกที่จะเริ่มต้นการรณรงค์ที่สำคัญครั้งนี้
ศิลปะบนฝาผนังสูงกว่า 15 เมตร ณ สวนเฉลิมหล้า (ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชเทวี) คือแนวทางที่แบรนด์ได้รับการสนับสนุนจากความช่วยเหลือและความสามัคคีของคนไทยในช่วงภาวะวิกฤติ สิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่สุดที่แสดงถึงความร่วมมือกันของศิลปินชื่อดังในประเทศ อาทิ เติ้ล ธีระยุทธ พืชเพ็ญ หรือ TRK และ อั้ม สรวิชญ์ ประคอง ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญกับงานศิลปะบนฝาผนังนี้ โดย TRK เป็นเจ้าของแนวศิลปะเฉพาะตัวแบบที่มีทั้งศิลปะแบบดั้งเดิมผสมผสานความร่วมสมัยเข้าด้วยกัน ส่งผ่านลวดลายไทยที่เป็นสัญลักษณ์นิ้วแตะกัน และ อั้ม สรวิชญ์ ที่เป็นที่รู้จักกันดีกับงานอักษรวิจิตรโดยเชื่อมโยงคำที่ว่า “ร่วมมือ รวมใจ เดินไปด้วยกัน”.