เจนวาย-แซดมาแรงสุด อายุน้อยการศึกษาต่ำเสี่ยงถูกเลิกจ้าง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เจนวาย-แซดมาแรงสุด อายุน้อยการศึกษาต่ำเสี่ยงถูกเลิกจ้าง

Date Time: 6 ก.ค. 2563 05:30 น.

Summary

  • ม.หอการค้าไทย ชี้วัยทำงานเจนวาย–แซด 5 ล้านคน เสี่ยงถูกเลิกจ้างมากสุด เหตุอายุน้อย การศึกษาไม่สูง อีกทั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด่วน

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

ม.หอการค้าไทย ชี้วัยทำงานเจนวาย–แซด 5 ล้านคน เสี่ยงถูกเลิกจ้างมากสุด เหตุอายุน้อย การศึกษาไม่สูง อีกทั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด่วน ขณะที่ “สุริยะ” นำทัพภาครัฐ–เอกชนลงพื้นที่สมุทรปราการเติมพลังเอสเอ็มอี ช่วยรักษาการจ้างงาน หนุนสร้างอาชีพ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นห่วงสถานการณ์การเลิกจ้างงานในแรงงานกลุ่มเจนวาย (Y) และแซด (Z) ที่มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 15-39 ปี ประมาณ 5 ล้านคนมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรก ที่นายจ้างจะเลิกจ้างงาน เนื่องจากส่วนใหญ่เพิ่งทำงานได้ไม่นาน ระดับการศึกษาไม่สูงนัก เช่น จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อนุปริญญา เงินเดือนเฉลี่ย 10,000-20,000 บาท และที่สำคัญส่วนมากไม่ได้เป็นพนักงานประจำในออฟฟิศ

“สาเหตุที่กังวลกับกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะช่วงที่ผ่านมา เจนวาย เจนแซด เป็นกลุ่มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นห่วงเรื่องการก่อหนี้ การใช้บัตรเครดิต ใช้เงินในอนาคตจำนวนมาก และที่ไม่ค่อยมีเงินออม หากถูกเลิกจ้างจะมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะจะมีความเสี่ยงในการกู้เงินนอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ”

สำหรับการคลายล็อกเฟส 5 คาดว่า จะช่วยทำให้มีการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 8,000-9,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 250,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาการจ้างงานได้ในระดับหนึ่ง เพราะการปลดล็อกเฟสนี้ ส่วนใหญ่จะมีแรงงานกลุ่มเจนวาย เจนแซดมาก และมักทำงานในสถานบันเทิงกลางคืน เช่น ผับ บาร์ โดยจะเป็นพนักงานเสิร์ฟ พริตตี้ เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหากโควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 และหลายประเทศไม่สามารถประคองเศรษฐกิจได้ เชื่อว่า ในอนาคตโลกจะเปลี่ยนจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤติการเงินโลกได้ เพราะเริ่มเห็นสัญญาณจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของแต่ละประเทศเริ่มปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน และเข้าแผนฟื้นฟู โดยเฉพาะสายการบิน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม จะนำผู้บริหาร ธพว.ลงพื้นที่ ที่เทศบาลตำบลแพรกษา อ.เมือง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในโครงการ “เติมพลัง เอสเอ็มอีไทย ก้าวไปด้วยกัน” และเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าใช้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ ธพว. เช่น สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash เพื่อเอสเอ็มอีนิติบุคคลธุรกิจการท่องเที่ยว วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี 2 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ดอกเบี้ย 2.875% ต่อปี 3 ปีแรก เป็นต้น

“จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเอสเอ็มอีเป็นเจ้าของตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การช่วยเหลือเอสเอ็มอี จะส่งผลดีด้านช่วยรักษาการจ้างงาน รวมถึงสร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่น”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธพว.ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวมาหลายๆพื้นที่อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ ระยอง น่าน และนครราชสีมา เป็นต้น มีเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเข้าใช้บริการ 400 ราย และจะทยอยจัดต่อเนื่องทั่วประเทศ ล่าสุดได้อนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่สมุทรปราการไปแล้ว 98 ราย วงเงิน 129 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ