นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า ขณะนี้ กรมสรรพากรได้พูดคุยกับตัวแทนจากบริษัทผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลต่างประเทศแล้วหลายบริษัท ซึ่งทุกบริษัทพร้อมดำเนินการตาม พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส หรือการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่ไม่จดทะเบียนในไทย ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร 7% จากค่าบริการที่จัดเก็บได้
“เดิมผู้ประกอบการไทยที่ลงโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆต้องเสียภาษีแวตให้สรรพากร ซึ่งถ้าเป็นเว็บไซต์ของประเทศไทย บริษัทเหล่านี้ก็ต้องเสียภาษีแวตจากค่าบริการให้สรรพากรอยู่แล้ว แต่ถ้าผู้ประกอบการลงโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทต่างชาติ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล อาลีบาบาทราฟเวอร์ โลก้า จูกซ์ เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ไม่เคยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากรจากรายได้ที่ได้รับเลย ซึ่งแต่ละปีเม็ดเงินที่ผู้ประกอบการไทย จ่ายค่าใช้บริการไหลออกจากประเทศราว 40,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นกฎหมายอี-เซอร์วิสจะสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการในประเทศมากขึ้น และทำให้สรรพากรมีรายได้มากกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท”
ส่วนกรณีการเก็บแวตบริษัทต่างชาติ จะทำให้ค่าบริการแพลตฟอร์มต่างๆเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นางสมหมายกล่าวว่า คงไม่สามารถตอบแทนได้ เป็นเรื่องของบริษัทต่างชาติที่จะคิดกำไร ก่อนจะตั้งราคาให้บริการ ซึ่งผู้บริโภคหรือประชาชนมีสิทธิ์เลือกใช้บริการด้วยตัวเอง หากพอใจกับราคาของบริษัทก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนที่กรมสรรพากรเปลี่ยนชื่อจากกฎหมายอีบิสซิเนสเป็นอี-เซอร์วิสนั้น เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าคำว่า อีบิสซิเนสเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงการขายของออนไลน์ด้วย ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอี-เซอร์วิส ซึ่งเป็นการเก็บภาษีแวตจากค่าบริการของผู้ให้บริการต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในไทยเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพากรได้พูดคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เปิดให้บริการในไทยแล้ว ทั้งกูเกิล ยูทูบ เฟซบุ๊ก เน็ตฟลิกซ์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้พร้อมยื่นจดทะเบียนภาษีแวตทันทีหาก พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส มีผลบังคับใช้.