Business On My Way :  "MeZ" ผู้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนผลไม้

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Business On My Way : "MeZ" ผู้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนผลไม้

Date Time: 16 พ.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • จะดีแค่ไหนหาก “เกษตรกรไทย” มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับเงินอยากเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกผู้ค้าคนกลางมากดราคา สามารถพึ่งพาตนเองได้

Latest

Collaboration สูตรยกกำลังขยายฐานลูกค้า “BURGER KING MEETS CARNIVAL” เมนูพิเศษปั้น Brand Love

จะดีแค่ไหนหาก “เกษตรกรไทย” มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับเงินอยากเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกผู้ค้าคนกลางมากดราคา สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องรอพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อที่หน้าสวน หรือคอยแต่จะให้ภาครัฐช่วยเยียวยา

แน่นอนหากทำได้เช่นนั้นจริง คงเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

แต่จะให้สิ่งที่คิดเป็นจริงได้นั้นเกษตรกรอาจต้องมีตัวช่วย เพื่อเป็นตัวผลักดันให้ก้าวผ่านวัฏจักรแบบเดิมๆ สู่โลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

Business On My Way สัปดาห์นี้ขอพาไปรู้จัก “สตาร์ตอัพไทย” ที่มีความมุ่งมั่นอยากให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาระบบการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์กับ “MeZ” (มีแซ่ด) ที่จะมาเป็นช่องทางเชื่อมโยงให้เกษตรกรกับผู้ซื้อมาเจอกัน

“คุณเบิร์ด” (ปริญญา บุญฑาทิพย์) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง MeZ เล่าว่า จุดเริ่มต้น MeZ เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝัน อยากมีธุรกิจของตนเอง โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อน ที่มีตนเองและอีก 2 ท่าน คือ คุณภรณี บุศยพลากร และ คุณนฤมล กิตติมงคลสุข ที่ต่างมีแพชชันหรือแรงผลักดันจากภายในร่วมกัน คืออยากช่วยเหลือเกษตรกรไทย

ทั้งนี้การที่มุ่งมั่นเพื่อช่วยกลุ่มเกษตรกรนั้น เป็นผลมาจากมีสมาชิกที่ร่วมก่อตั้ง MeZ ท่านหนึ่งเคยได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกลุ่มเกษตรกร ทำให้ได้สัมผัสถึงความยากลำบาก และคุณภาพชีวิตที่ควรได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น และนั่นจึงเป็นแรงจุดประกายความคิดให้สร้างช่องทางขายออนไลน์ เพื่อระบายผลผลิตสู่กลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

คุณเบิร์ด เล่าว่า สิ่งที่ทำต่อนั้นคือมาระดมสมองกันว่า แล้วเราจะขายผลผลิตประเภทไหนดี โดยเลือกระหว่างผักและผลไม้ ก็ใช้เวลาปรึกษากันพักหนึ่ง จึงเลือกเป็นกลุ่มผลไม้ไทยมาเป็นพระเอก เนื่องจากเป็นผลผลิตที่นิยม และขึ้นชื่อในเรื่องรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทานได้ทุกช่วงวัย บวกกับในกลุ่มก็มีความชื่นชอบทานผลไม้ไทยเป็นทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะทุเรียน ทำให้สนใจเรื่องผลไม้เป็นพิเศษ

“ด้วยความที่ผู้ก่อตั้ง MeZ ชอบทานทุเรียน ก็ทำให้รู้ว่าจะหาทานทุเรียนที่รสชาติดีๆ มีคุณภาพ เป็นอะไรที่ยากมาก ทำให้ช่วงแรกที่พัฒนา MeZ จึงเลือกโฟกัสไปที่ทุเรียนมาเป็นตัวเอกในการทำตลาด ซึ่งแรกๆก็ขายในกลุ่มคนใกล้ชิดก่อน”

คุณเบิร์ด เล่าว่า ช่วงแรกที่พัฒนาแพลตฟอร์มนั้น ก็มีการเก็บข้อมูลเพื่อทดลองและเรียนรู้ว่ามีจุดไหนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข จนกระทั่งได้รูปแบบแพลตฟอร์มที่ชัดเจนมาพัฒนาต่อยอดได้ในวันนี้

ทั้งนี้ในช่วงแรกที่ทำ MeZ มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมแค่ 3-4 ราย โดยปัจจุบัน MeZ ดำเนินธุรกิจก้าวสู่ปีที่ 3 แล้ว ซึ่งเวลานี้มีกลุ่มชาวสวนในแพลตฟอร์มกว่า 100 ราย และกลุ่มลูกค้าที่เข้าใช้งาน MeZ กว่า 10,000 ราย

โดยความสำเร็จจากทุเรียน ก็ทำให้มีการขยายไปในกลุ่มผลไม้ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย อาทิ มังคุด ส้มโอ มะม่วง มะยงชิด มะขาม น้อยหน่ารวมถึงกลุ่มผลไม้ที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) อาทิ ทุเรียนปราจีน ทุเรียนป่าละอู ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ส้มโอทับทิมสยาม เป็นต้น ไว้ให้บริการลูกค้าอีกด้วย

“นอกจากผลไม้ที่หลากหลายมากขึ้น ในแพลตฟอร์ม MeZ ยังมีสวนต่างๆให้เลือกสรรมากมายไว้บริการ โดยจะมีรายละเอียดของผลไม้และสวนนั้นว่า มีความพิเศษ หรือการดูแลอย่างไร ได้รับรางวัลอะไรมาบ้าง ทำให้ลูกค้าเลือกตัดสินใจได้ง่ายขึ้น”

คุณเบิร์ด เล่าว่า จุดเด่นของ MeZ คือเน้นเรื่องคุณภาพของผลไม้ที่จัดส่งให้ลูกค้า โดยลูกค้าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายแน่นอน ที่สำคัญราคาก็สมเหตุสมผล เพราะถือเป็นการซื้อโดยตรงจากชาวสวนเอง นอกจากนี้ เรายังมีการรับประกันสินค้า หากมีปัญหา ไม่ตรงความต้องการที่ลูกค้าสั่งไว้ ก็ยินดีสั่งใหม่ให้ หรือจะเลือกรับเงินคืนก็ได้ ซึ่งก็จะมีเงื่อนไขอธิบายชัดเจนในตอนที่ทำการสั่งซื้อ

ทั้งนี้ หากมีกลุ่มเกษตรกรหรือชาวสวนท่านใดสนใจเข้าร่วมกับ MeZ ก็แอดไลน์มาพูดคุยรายละเอียดได้ที่ ไลน์ : @mezfarmer ซึ่งทาง MeZ จะเป็นผู้ช่วยจัดการเรื่องการตลาด สร้างตัวตนของสวนโดยโปรโมตชื่อสวนให้เป็นที่รู้จักผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีระบบหลังบ้านในการช่วยรับออเดอร์จากลูกค้า และสรุปออเดอร์ให้ ชาวสวนไม่ต้องตอบแชตเอง โดยทางสวนมีหน้าที่รักษาคุณภาพของผลผลิต และทำการจัดส่งให้ลูกค้า

โดยปัจจุบันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ช่วยกระตุ้นยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า เทียบกับช่วงเวลาปกติที่ไม่มีไวรัสระบาด โดยกลุ่มลูกค้าหลัก 70% อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล

“ในอนาคตอันใกล้ทางทีมงาน MeZ ก็วางเป้าหมายอยากสร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ภายในปี 2564 จากนั้นก็มีแผนขยายความช่วยเหลือนี้ไปสู่กลุ่มชาวสวนในพื้นที่อื่น รวมถึงกลุ่มผลไม้ต่างๆมากขึ้น ซึ่งก็จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยที่ดีมากขึ้น”

งานนี้ลูกค้าท่านใดอยากลิ้มลองผลไม้จากสวนที่อยู่ใน MeZ ก็สั่งได้ทั้งช่องทางเว็บไซต์ : www.mezfruit.com และทางไลน์ @mezfruit ที่สำคัญมีบริการจัดส่งแบบดีลิเวอรี โดยคิดราคาตามระยะทางจริงด้วยนะจะบอกให้!!


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ