น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้สินของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ ในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยได้ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ให้สหกรณ์ใช้เป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยให้สหกรณ์ผ่อนผันการชำระหนี้ให้กับสมาชิก ทั้งขยายเวลาการชำระหนี้ การพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่วนการชำระค่าหุ้นของสมาชิก ขอให้ปรับลดหรืองดส่งค่าหุ้นรายเดือนเป็นการชั่วคราว หรืองดหักส่งค่าหุ้นตามส่วนของเงินกู้ จนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระหนี้ในส่วนของสหกรณ์มี 3 แนวทาง ได้แก่ สหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ประสานขอความร่วมมือ ธ.ก.ส. ผ่อนผันการชำระหนี้ให้สหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ โดยขยายเวลาชำระหนี้ให้ไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปีแรก และขอสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจของสหกรณ์ โดยคิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า MLR-1 ต่อปี
สำหรับสหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ให้ขยายเวลาชำระหนี้ได้ถึง 31 ต.ค.63 ซึ่งสหกรณ์ต้องผ่อนผันขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่สมาชิกผู้กู้เงินจากสหกรณ์เช่นเดียวกัน ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จะได้รับการขยายเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระออกไปอีก 1 ปี โดยขยายเวลาชำระหนี้ไปถึงวันที่ 28 ก.พ.64 และกลุ่มเกษตรกรต้องขยายเวลาการชำระหนี้ งดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับกับสมาชิกด้วย
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า คาดว่าสหกรณ์ภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร 2,660 แห่งที่ขยายเวลาการชำระหนี้หรือพักชำระหนี้ชั่วคราว สมาชิกจะได้ประโยชน์ 5.79 ล้านคน ต้นเงินกู้จำนวน 1,296,843 ล้านบาท มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.50-1% คิดเป็นมูลค่า 6,480 ล้านบาท ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยให้สมาชิกสหกรณ์มีเงินเหลือจากการขยายเวลาชำระหนี้หรือพักหนี้ชั่วคราว และลดดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยรายละ 19,720 บาทต่อเดือน และมีเงินเหลือจากการปรับลดค่าหุ้นรายเดือน หรืองดส่งค่าหุ้นตามส่วนของเงินกู้อีกเดือนละ 430 บาท ซึ่งสมาชิกจะมีเงินเหลือใช้จ่ายในครัวเรือน เฉลี่ยเดือนละ 20,150 บาท.