เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ไม่สามารถคาดเดาได้การระบาดจะยุติเมื่อใด เพราะนอกจากทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นไม่หยุดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และไทย หวังว่าการแพร่ระบาดจะคลี่คลายโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะก่อความเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะไทย จะมีคนตกงานเป็นจำนวนมากหลายเท่า จากเดิมเจอพิษเศรษฐกิจ ยิ่งมาเจอเชื้อโควิด-19 เข้าไปอีกเหมือนผีซ้ำด้ำพลอย
ในแง่ผลกระทบที่ตามมาแบบโดมิโน จะทำให้คนทยอยตกงานเป็นจำนวนมาก เป็นส่ิงที่น่ากลัวต่อการใช้ชีวิตของคนไทยนับจากนี้ จนเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา และอาจจะยิ่งน่ากลัวกว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกหลายเท่า แต่อย่างน้อยได้เป็นการเตือนให้หลายคนเตรียมพร้อมรับมือ
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ "ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล" รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ตัวเลขคนตกงานจะโหดมาก จากที่ผ่านมาเศรษฐกิจชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่ากลางปีนี้เศรษฐกิจจะเผาจริง กระทั่งเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ อย่างแน่นอน เริ่มจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคน แยกเป็นนักท่องเที่ยวจีน 27.6% มาเลเซีย 10.5% อินเดีย 5% เกาหลี 4.7% ลาว 4.6% และญี่ปุ่น 4.5% ทำรายได้เข้าไทย 1.93 ล้านล้านบาท
“หากย้อนตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวเฉพาะเดือนกุมภา ถึงเมษา ปีที่แล้ว มีรายได้ 5.1 แสนล้านบาท แยกเป็นจีน 1.4 แสนล้าน ยุโรป 1.2 แสนล้าน และประเทศในอาเซียน 8.4 หมื่นล้านบาท และเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อโควิด อาจมองในแง่ดีมีการหยุดระบาดของโรคแค่ช่วงเดือนเมษา แต่เกิดคำถามว่าปีนี้รายได้ในส่วนนี้จะเหลือเท่าไร สังเกตได้จากการจองห้องพัก มีการยกเลิกไป 100% หลังจีนซัตดาวน์ประเทศ ทัวร์จีนหายไปหมด ยกเว้นเดินทางกันมาเอง จนตอนหลังญี่ปุ่น เกาหลี ค่อยๆ หายไป หากเชื้อโควิด ยังระบาดยืดเยื้อไปถึงเดือนกรกฎา รายได้ประเทศจะหายไปประมาณ 9.2 แสนล้านบาท”
ขณะเดียวกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศยุโรปยังไม่หยุด และพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้รู้สึกกังวลเกรงว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก รวมทั้งไทย ยิ่งทำให้คนตกงานเพิ่มมากขึ้นอาจเป็นหลักล้าน เนื่องจากคนตกงานไม่ใช่เฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว แต่จะตกงานทั้งระบบในลักษณะห่วงโซ่
เริ่มจากด้านท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อทัวร์ในประเทศ ทัวร์ต่างประเทศ กระเทือนไปถึงไกด์มัคคุเทศก์ ร้านขายของฝาก กราวด์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการภาคพื้นดิน ร้านค้าดิวตี้ฟรี ระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งสายการบิน รถทัวร์ รถบัส รถเช่าตามสนามบิน และร้านค้าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“ความน่ากลัวของการระบาดของเชื้อตัวนี้ ยังกระทบต่อรายได้ของแท็กซี่ ตุ๊กๆ เรือนำเที่ยวตามเกาะๆ และแน่นอนโรงแรมที่พักต่างๆ จะหายไปหมด ไม่เท่านั้นธุรกิจจัดงานอีเวนต์ งานแสดงสินค้า ดารานักแสดง สื่อโฆษณา ร้านนวดสปา ห้าง ร้านค้าปลีก โชห่วย ไนต์มาร์เก็ต สถานบันเทิงต่างๆ สวนน้ำ สวนสนุก ฟิตเนส จะกระทบไปหมด และจะลามไปโรงพยาบาล เพราะคนไม่กล้าเข้าไป ทำให้ร้านค้าในโรงพยาบาล รับผลกระทบต่อไปอีก ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ทำให้ธุรกิจสาธารณูปโภค หายไป ทั้งปั๊มแก๊ส ปั๊มน้ำมัน และเมื่อทั้งหมดแย่ลง จะกระทบสถาบันการเงิน ไม่สามารถทวงหนี้ได้เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในอาชีพต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากการลดจำนวนคนลง และขณะนี้เริ่มเห็นโรงแรม ไม่จ่ายเงินพนักงาน และยังไม่รวมธุรกิจนำเข้า-ส่งออก”
จากสิ่งไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ทำให้เป็นห่วงธุรกิจรายเล็กๆ ที่มีหนี้สินและหาเช้ากินค่ำ เนื่องจากดอกเบี้ยยังต้องเดินต่อ จะกลายเป็นชนวนใหญ่จากการที่สถาบันการเงินไม่ผ่อนปรนให้ จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลรีบออกมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ฉีดเงินในระบบเพื่อรักษาสภาพคล่อง โดยให้แบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก้ปัญหาบริษัทรายเล็กล้มละลาย เพราะไม่มีเงินจ่ายหนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อแบงก์และสถาบันการเงิน กลายเป็นปัญหาโดมิโนรอบใหม่ จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร “ดร.ภูษิต” ได้ให้ข้อแนะนำกับบริษัทและพนักงาน ให้เริ่มสำรวจหนี้สิน รวบรวมค่าใช้จ่ายภายใน 6 เดือน หากไม่จำเป็นต้องตัดทิ้งทั้งหมด สำรวจเงินสดว่าเพียงพอจ่ายหนี้หรือไม่ และที่สำคัญต้องสำรองเงินสำหรับการใช้จ่ายใน 6 เดือน พร้อมกับการหารายได้เพิ่มเติม เช่น การขายสินค้าออนไลน์ ในห้วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งคนจะหวาดกลัวไม่ออกไปข้างนอก
นอกจากนั้นอยากให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาด อย่างประเทศจีนที่มีการชัตดาวน์ประเทศได้เร็ว และหาผู้ป่วยจนสามารถหยุดการกระจายของโรคได้ หากไทยไม่สามารถยุติโรคได้เร็วธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่จะกระทบไปทั้งหมด ขอให้จับตาสถานการณ์นับจากนี้ไม่อยากให้ตื่นตระหนก แต่อย่าประมาท.