หมดหวัง “เชฟโรเลต” คืนเงิน จองไว้-ไม่ได้รถ สคบ.จ่อช่วย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หมดหวัง “เชฟโรเลต” คืนเงิน จองไว้-ไม่ได้รถ สคบ.จ่อช่วย

Date Time: 28 ก.พ. 2563 09:31 น.

Summary

  • สคบ.หารือตัวแทนเซฟโรเลต ยอมรับประเด็นให้คืนเงิน หรือลดราคาให้คนที่ซื้อไปแล้วคงหมดหวัง แต่กรณีที่จองซื้อก่อนลดราคา หรือจองซื้อช่วงลด 50% แล้วในที่สุดไม่ได้รับรถ เพราะยอดจองเกินกว่าสต๊อก

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

สคบ.หารือตัวแทนเซฟโรเลต ยอมรับประเด็นให้คืนเงิน หรือลดราคาให้คนที่ซื้อไปแล้วคงหมดหวัง แต่กรณีที่จองซื้อก่อนลดราคา หรือจองซื้อช่วงลด 50% แล้วในที่สุดไม่ได้รับรถ เพราะยอดจองเกินกว่าสต๊อกถึง 1,000 คันนั้น สคบ.จะเข้าไปตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมาย แนะคนที่จองซื้อรถไว้ในราคาเต็ม แต่ยังไม่ได้รถ แนะให้ทิ้งใบจองน่าจะดีที่สุด

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยภายหลังหารือกับตัวแทนบริษัท เซฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีประกาศ ลดราคาขายรถยนต์ โดยเฉพาะรุ่นแคปติวา ซึ่งลดลงถึง 50% ว่า ประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน แยกเป็น 3 เรื่อง 1.ประชาชนที่ซื้อรถเซฟโรเลตไปใช้ก่อนหน้านี้ ขอให้ทางบริษัทลดราคาลง 2.กรณีที่ประชาชนจองซื้อรถเซฟโรเลตไปแล้ว แต่รถยังเป็นป้ายแดงอยู่จะลดราคาลงมาได้หรือไม่ และ 3.กรณีสุดท้ายคือ จองซื้อรถยนต์รุ่นดังกล่าวก่อนที่จะลดราคาลดลง 50% จะทำอย่างไร และกรณีที่จองซื้อรถในราคาลดลง 50% จากดีลเลอร์โดยได้จ่ายเงินมัดจำ 5,000 บาท และรับใบจองเรียบร้อยแล้ว แต่หากไม่มีรถส่งมอบจะดำเนินการอย่างไร

“การหารือในครั้งนี้ ทางฝ่ายกฎหมายและฝ่ายปฏิบัติของบริษัทเซฟโรเลต ในฐานะตัวแทนหารือ กับ สคบ.ก็ไม่ได้มีการรับปาก หรือมีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะกรณีของบริษัท เซฟโรเลต ได้ปิดกิจการที่ไทยไปแล้ว ทำให้พนักงานทั้งในส่วนโรงงาน และบริษัทจำหน่ายรถยนต์กว่า 1,000 คน รวมถึงตัวแทนบริษัทที่เข้าร่วมประชุมก็ตกงานด้วย”

นายเทวัญกล่าวต่อว่า ในขณะนี้ สคบ.จะไปรวบรวมข้อมูลและเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ที่เกี่ยวข้องรถยนต์ยี่ห้อเซฟโรเลตทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์ โดยเบื้องต้น 2 ประเด็นแรก คือเรื่องขอลดราคารถยนต์ลงหลังจากซื้อรถไปแล้วนั้น คาดว่า คงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้แล้ว เพราะ ผู้ซื้อได้ทำนิติกรรมและรับรถยนต์ไปแล้ว

ส่วนประเด็นที่ 3 คือ เรื่องใบจองรถยนต์ สคบ.จะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย เพราะยอดจองรถยนต์รุ่นดังกล่าวมีมากถึง 2,000 คัน แต่รถยนต์ที่ส่งมอบให้ได้มีเพียง 1,000 คัน ซึ่งบริษัท เซฟโรเลต อ้างว่ายอดจองรถยนต์มาจากดีลเลอร์เป็นผู้รับจอง ไม่ได้จองผ่านบริษัทโดยตรงทำยอดจองรถยนต์กับสต๊อกรถยนต์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ สคบ.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ และหากไม่มีข้อสรุป จะดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเรียกความเสียหายต่อไป ส่วนจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมาย เนื่องจากกิจการของบริษัทเซฟโรเลต ในไทยได้ขายไปให้บริษัทรถยนต์สัญชาติจีนไปแล้ว

“สคบ.จะพยายามดูแลประชาชนที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ โดยประชาชนที่ถือใบจองก่อนที่ราคารถจะลดลง 50% น่าจะทิ้งใบจองดีที่สุด โดยผู้ที่ใช้รถยี่ห้อดังกล่าวเสนอว่าควรได้รับการดูแลหลังการขายเพิ่มเติม เช่น จากเดิมได้รับการดูแลเครื่องยนต์ฟรี 100,000 กิโลเมตร ระยะเวลา 3 ปี น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 กิโลเมตร ระยะเวลา 6 ปี ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว หากซื้อรถยนต์ยี่ห้อนี้และยังใช้เป็นป้ายแดงจะเอาไปทุบทิ้งที่หน้าบริษัทเซฟโรเลต”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการประกาศยุติการจำหน่ายในประเทศไทย บริษัท เชฟโรเลต ได้ออกแถลงการณ์ ดังนี้ 1.บริษัท เชฟโรเลต ยังมีบริการหลังการขายและดูแลผู้บริโภค มีการรับประกันคุณภาพรถยนต์ จำนวน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร หรืออย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อนและการซ่อมบำรุง ณ ศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท เชฟโรเลตฯ 2.ผู้บริโภคสามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท เชฟโรเลตฯ ทั่วประเทศ 3.บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีคลังอะไหล่แท้มาตรฐาน ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ไว้ครบถ้วน และเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และ 4.บริษัท เชฟโรเลต ไม่มีนโยบายคืนเงินให้กับผู้บริโภคเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ