“ดีแทค” เปิดบริการไตรมาส 2 จบภารกิจ 5 จี “ฐากร” ลาออก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ดีแทค” เปิดบริการไตรมาส 2 จบภารกิจ 5 จี “ฐากร” ลาออก

Date Time: 19 ก.พ. 2563 05:25 น.

Summary

  • ดีแทคชิงแถลงข่าวเจ้าแรก เตรียมเปิด 5 จีบนคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ภายในไตรมาส 2 ไม่หวั่นแม้ได้คลื่นน้อยที่สุด เพราะมีคลื่นครอบคลุมทุกย่านความถี่ ย้ำจะเล่นอยู่ในเกมของตัวเองที่เน้นแตกต่าง

Latest

“ชรินทร์” พลิกฟื้น “เดอะ ทวิน ทาวเวอร์” “รัดเข็มขัด” สร้างกำไรจุดขายใหม่ย่านบรรทัดทอง

ดีแทคชิงแถลงข่าวเจ้าแรก เตรียมเปิด 5 จีบนคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ภายในไตรมาส 2 ไม่หวั่นแม้ได้คลื่นน้อยที่สุด เพราะมีคลื่นครอบคลุมทุกย่านความถี่ ย้ำจะเล่นอยู่ในเกมของตัวเองที่เน้นแตกต่าง ด้าน “ฐากร” ยื่นหนังสือลาออกเฉย หลังจบภารกิจ 5 จี ขณะที่ “ทรู” อยู่ๆเน็ตเวิร์กล่ม ทำลูกค้าร้องระงม แจงเหตุเกิดจากซอฟต์แวร์และระบบสื่อสัญญาณในบางส่วนทำงานผิดปกติ

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคน่าจะเปิดบริการ 5 จีได้ภายในไตรมาส 2 โดยน่าจะเริ่มต้นจากบริการ 5 จี Fixed Wirless (5 จีอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่) ก่อน และแม้ว่าดีแทคจะประมูลคลื่น 5 จีได้ในจำนวนน้อยที่สุด แต่ก็มีคลื่นในมือที่ครอบคลุมทั้งคลื่นความถี่สูง กลาง และต่ำ เพียงพอต่อการแข่งขัน “ดีแทคจะเล่นอยู่ในเกมของตัวเอง จะไม่มีวันหยุด เราจะให้บริการ 5 จีในแบบของเราด้วยการสร้างความแตกต่าง”

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ดีแทคได้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 5 จี ซึ่งประกอบด้วยคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยดีแทคเข้าประมูลในคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์คลื่นเดียว คว้าไป 2 ใบอนุญาต คิดเป็นจำนวนคลื่น 200 เมกะเฮิรตซ์ เป็นผู้เข้าร่วมประมูลที่ได้คลื่นไปน้อยที่สุดและใช้เงินประมูลน้อยที่สุดในมูลค่า 910 ล้านบาท ผลพวงจากการประมูลล่าสุด ทำให้ดีแทคกลายเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นในมือรวมกันน้อยที่สุด ที่ 340 เมกะเฮิรตซ์ ถูกทิ้งห่างเมื่อเทียบกับเอไอเอสและทรูที่มี 1,450 และ 1,020 เมกะเฮิรตซ์ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้จะประมูลคลื่นไปได้น้อยที่สุด แต่ดีแทคได้จัดแถลงข่าวก่อนใครเพื่อน ขณะที่เอไอเอส ซึ่งประมูลคลื่นไปได้มากที่สุดกำหนดแถลงข่าวในวันพุธที่ 19 ก.พ. ส่วนทรูในวันที่ 20 ก.พ.

นายชารัดกล่าวอีกว่า ดีแทคจะใช้คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ในการเปิดให้บริการ 5 จี ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม เมื่อถูก ถามว่า คู่แข่งทั้ง 2 ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอสและทรู ต่างเลือกใช้คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นเปิดตัวบริการ 5 จีนั้น ความแตกต่างจะทำให้ดีแทคได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร นายชารัด ตอบว่า ดีแทคได้เพิ่มศักยภาพโครงข่ายปัจจุบัน เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งดีขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า โดยได้เร่งขยาย Massive MIMO เทคโนโลยีความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ใช้งานหนาแน่นและขยายโครงข่ายเพื่อให้บริการเพิ่มสำหรับการใช้งาน 4 จี บนคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ มากกว่า 20,000 สถานี ภายในปลายปี 2563 ด้วยความพยายามทั้งหมด เชื่อว่าจะสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับลูกค้าดีแทคได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันดีแทคมีคลื่นให้บริการทั้งสิ้น 6 ย่านความถี่ คลื่นความถี่ย่านต่ำได้แก่คลื่น 900 และ 700 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นความถี่ย่านกลางได้แก่ คลื่น 2300, 2100 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นความถี่สูง ได้แก่ 26 กิกะเฮิรตซ์ที่เพิ่งประมูลได้มาสดๆร้อนๆ

วันเดียวกัน (18 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจเปิดประมูล 5 จี ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นเลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา โดยหนังสือลาออกได้ระบุเหตุผลว่า ตลอดเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้วจนจบที่ 5 จี ขอลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2563 เป็นต้นไป

ขณะที่ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานบอร์ด กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือลาออกของนายฐากร แต่หากได้รับจะเรียกมาเจรจาขอให้ทำงานไปจนกว่าจะเกษียณอายุในเดือน ก.ย.2563 นี้ โดยในวันที่ 19 ก.พ. ที่ประชุมบอร์ด กสทช.จะรับรองผลการประมูล 5 จีอย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมออกใบอนุญาตให้กับผู้ชนะประมูลต่อไป

วันเดียวกัน ท่ามกลางการแข่งขันเปิดตัวบริการ 5 จีที่กำลังเข้มข้น ปรากฏว่าโครงข่ายมือถือของทรูมูฟเอช ได้ขัดข้องเป็นวงกว้างในบางพื้นที่ โดยทรูชี้แจงว่าระยะเวลาใช้งานไม่ได้เฉลี่ย 8-10 นาทีในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยสาเหตุเกิดจากซอฟต์แวร์และระบบสื่อสัญญาณในบางส่วนทำงานผิดปกติ โดย กสทช.ได้เรียกทรูไปชี้แจงในวันที่ 19 ก.พ.นี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ