รัฐบาล-ธปท.จ่อปรับลดจีดีพีปี 63

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐบาล-ธปท.จ่อปรับลดจีดีพีปี 63

Date Time: 1 ก.พ. 2563 05:45 น.

Summary

  • ครม.เศรษฐกิจ ตัดสินใจปรับเป้าจีดีพีปี 63 ลง หลังเผชิญวิกฤติที่คาดไม่ถึงงบ ประมาณล่าช้า–ทำงบลงทุน 6 แสนล้านนำออกมาใช้ไม่ได้–ภาวะภัยแล้ง–การระบาดของไวรัสโคโรน่า

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอรัฐบาลนำช้อปดีมีคืนมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 67

งัดแผนกระตุ้นรอบใหม่ “งบล่าช้า-แล้ง-โคโรนา” พากระอัก

ครม.เศรษฐกิจ ตัดสินใจปรับเป้าจีดีพีปี 63 ลง หลังเผชิญวิกฤติที่คาดไม่ถึงงบ ประมาณล่าช้า–ทำงบลงทุน 6 แสนล้านนำออกมาใช้ไม่ได้–ภาวะภัยแล้ง–การระบาดของไวรัสโคโรน่า เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ขณะที่ ธปท.รับเศรษฐกิจปี 62 และปีนี้โตหลุดเป้าที่คาดไว้ คาดส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยหนักสุดไตรมาสแรกปีนี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ตัดสินใจที่จะปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงจากเดิมที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) คาดไว้ว่าจะขยายตัว 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางที่ 3.2% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้งบลงทุนกว่า 600,000 ล้านบาทไม่สามารถเดินได้ ขณะเดียวกัน ได้มีสถานการณ์ภัยแล้ง และมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างน้อย 3-6 เดือน “สภาพัฒน์จะประกาศตัวเลขที่ประมาณการใหม่ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ รวมทั้งจะแถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

หรือจีดีพีไตรมาส 4 ของปี 2562 ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจ ได้นำดัชนีหลายตัวมาดูพบว่าเศรษฐกิจแย่ลง ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และงบลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ฉะนั้น ภาพรวมตัวเลขที่ออกมาจะแย่ลงเล็กน้อย ดังนั้น ทางทีมเลขา ครม.เศรษฐกิจ และหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจทั้งหมด จะร่วมกันจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เสนอ ครม.เศรษฐกิจในครั้งหน้า เพื่อรองรับปัญหาที่กำลังลุกลามเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ตามปกติเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยปกติจะใช้เวลา 2-3 ปี จะเข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางภาวะนี้มามากกว่า 18 เดือนแล้ว เริ่มต้นจากกลางปี 2561 ตอนนี้เกินครึ่งทางแล้ว แต่เมื่อเกิดปัญหาของโรค ระบาดไวรัสโคโรนาขึ้นมาก็เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวช้ายืดเยื้อออกไปอีก

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในเดือน ธ.ค.62 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปี ภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ก็เริ่มปรับดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่หากมองภาพทั้งปีพบว่า มีแนวโน้มที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ทั้งปีจะต่ำกว่าประมาณการล่าสุดที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ขณะที่เมื่อเริ่มปีใหม่ 2563 เราเผชิญกับปัจจัยลบจำนวนมาก และเป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญ ทำให้มีโอกาสที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะต่ำกว่า 2.8% ที่ ธปท. ประมาณการครั้งก่อนเช่นกัน

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยลบในระยะต่อไปที่ ธปท.ติดตามใกล้ชิด จากระดับความเสี่ยงจากหนักไปหาเบา คือ 1.การระบาดของไวรัสโคโรนาที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยว การใช้จ่ายในประเทศ และการส่งออก 2.ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ซึ่งจะกระทบต่อกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลงทุนของภาคธุรกิจ 3.สถานการณ์ภัยแล้ง ที่กระทบต่อรายได้ภาคการเกษตร และส่งผลเชิงลบต่อการบริโภคภาคเอกชน

“ปัญหาภัยแล้ง ส่วนหนึ่ง ธปท.ได้รวมไว้ในประมาณการครั้งก่อนหน้าแล้ว ขณะที่อีก 2 ปัจจัยถือเป็นปัจจัยใหม่ และเป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดย ธปท.ประเมินในเบื้องต้นว่า หากเป็นกรณีฐานผลกระทบของทั้ง 2 ปัจจัยจะอยู่ที่ 2-3 เดือนนับจากนี้ ทำให้ยอมรับว่า จากที่คาดว่าไตรมาสแรกของปีนี้จะโตที่ 2% กว่าๆ น่าจะไหลลงลึกมากกว่านั้น และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 4 ก.พ.นี้ จะมีการรายงานภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปให้ กนง.รับทราบเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป”

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบี (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) รายงานว่า ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนของไทยครึ่งปีแรกหายไปกว่า 2.4 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวทั้งปี 63 สูญรายได้กว่า 100,000 ล้านบาทหรือ 0.7% ของจีดีพี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ