สกู๊ปหน้า 1 : พลังงานเพื่อทุกคน “B10” ลดฝุ่น PM2.5

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สกู๊ปหน้า 1 : พลังงานเพื่อทุกคน “B10” ลดฝุ่น PM2.5

Date Time: 13 ม.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • “กระทรวงพลังงาน”...ตั้งเป้าหมายในปี 2563 เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงาน “Energy or All พลังงานเพื่อทุกคน”

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

“กระทรวงพลังงาน”...ตั้งเป้าหมายในปี 2563 เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงาน “Energy or All พลังงานเพื่อทุกคน”

หัวใจสำคัญคือการนำ “พลังงาน” เข้าไปหมุนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากฐานรากซึ่งเมื่อ “เศรษฐกิจฐานราก” ได้ถูกขับเคลื่อนแล้ว ก็จะเป็นการยกฐานของประเทศขึ้นไปทั้งระบบ

ที่สำคัญ...ช่วยหนุนให้ภาค “เศรษฐกิจ” และ “อุตสาหกรรม” เดินหน้าต่อไปได้

ลงลึกในรายละเอียดนับตั้งแต่...แนวทางในการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนด้านพลังงาน การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงไฟฟ้า...ทุกพื้นที่จะต้องมีไฟฟ้าใช้เพื่อยกระดับคุณภาพให้ “คนไทย” ทุกพื้นที่ได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง ด้วยการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

การทำสถานีพลังงานชุมชนแบบครบวงจรที่สามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ...เชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงาน สร้างรายได้ต่อยอดอาชีพชุมชน

การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้เกิดการใช้ “EV” อย่างเป็นรูปธรรม และการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ
ทั่วประเทศ ทั้ง “B10” เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดมาตรฐาน และ “B20” ที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ตลาดน้ำมันปาล์มมีความสมดุลมากขึ้น

แน่นอนว่าจะเป็นการสร้างเสถียรภาพ “ราคา” ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความ “ผันผวน” ราคาในตลาดโลกอีกด้วย

พุ่งเป้าไปที่นโยบายการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ “ไบโอดีเซล” ด้วยการส่งเสริมการใช้ “น้ำมันดีเซล B10” เป็นน้ำมันดีเซลฐานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งการใช้จะสามารถแก้ปัญหา “น้ำมันปาล์มดิบ” ล้นตลาด ช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคา

...เป็นการช่วยเหลือ “เกษตรกรชาวสวนปาล์ม” อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ยังเกิดผลดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะช่วยลดมลพิษ “ลดฝุ่น PM 2.5” ได้ด้วย และที่สำคัญคือสามารถช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมัน เพราะ B10 มีราคาถูกกว่าดีเซลเดิมลิตรละ 2 บาท

ช่วย “ประหยัด” ค่าใช้จ่ายลงได้อย่างชัดเจน

ส่วนรถยนต์ดีเซลที่ใช้ B10 ไม่ได้ อย่างรถรุ่นเก่าและรถยุโรปก็ยังคงมี B7 เป็นดีเซลทางเลือกไว้ให้ และมี B20 ซึ่งออกมาก่อนหน้านี้เป็นทางเลือกให้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แจกแจงอีกว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบโครงการปรับลดราคาน้ำมัน เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้มีการลดราคาขายปลีกน้ำมันบี 10 และอี 20 ลง 1 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึง 10 มกราคม 2563 และใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดำเนินการร่วมกับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)

แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมายังได้ให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตรึงราคาน้ำมันตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ถึง 2 มกราคม 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทาง

จากการที่กระทรวงพลังงานได้รณรงค์...ออกมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 เพื่อสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศให้มีความยั่งยืน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันไม่ให้ราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเตรียมที่จะกำหนดให้ “น้ำมันดีเซล B10” ให้เป็น “น้ำมันดีเซลฐาน” ของประเทศ

ย้ำว่า... “กระทรวงพลังงาน” ยังมีมาตรการด้านราคาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันดีเซล B10 เพิ่มขึ้น โดยกำหนดราคาให้ถูกกว่าน้ำมันดีเซล B7 ลิตรละ 1 บาท และได้เพิ่มส่วนต่างขึ้นอีก รวมเป็น 2 บาทต่อลิตร...โดยได้มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการใช้ดีเซล B10 จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณวันละ 50 ล้านลิตร

ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ไบโอดีเซล (B100) ได้ประมาณ 7.0 ล้านลิตรต่อวัน

“เราตั้งเป้าหมายที่ต้องการส่งเสริมการใช้ดีเซล B10 ไปให้ถึง 57 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะสามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO ในภาคพลังงาน ให้ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศในปัจจุบัน...หรือประมาณปีละ 2.2 ล้านตัน ซึ่งจากตัวเลขนี้จะช่วยสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบได้”

เหลียวมองไปในส่วนของ “ผู้ค้าน้ำมัน” ได้ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 ซึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2563 คลังน้ำมันทุกแห่งจะมีน้ำมันดีเซล B10 จำหน่ายรับปีใหม่ และในวันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จะมีจำหน่ายในทุกสถานีบริการน้ำมันจากปัจจุบันมีจำหน่ายแล้ว 450 แห่ง

ประเด็นน่าสนใจมีว่า...การส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซล B10 แทน B7 นอกจากจะช่วยสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อีกด้วย

ผลการศึกษาพบว่า การใช้น้ำมันดีเซล B10 จะช่วยลดฝุ่นละออง (PM) ลงได้ประมาณ 15% และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ลงได้ประมาณ 3.5% หรือ 300 ตันต่อปี

การกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว “บี 10” ให้เป็น “น้ำมันดีเซลฐาน” ของประเทศ โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว “บี 7” และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว “บี 20” เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือก

ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์เกือบทุกค่ายให้การรับรองว่า...สามารถใช้น้ำมันดีเซล B10 ได้ โดยเฉพาะรถยนต์ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ยกเว้นค่ายยุโรป เช่น Benz หรือ BMW ที่ยังไม่สามารถใช้ได้

โดยที่จำนวนรถยนต์ที่ใช้ดีเซลทั้งหมดมีประมาณ 10.5 ล้านคัน รถยนต์ที่ค่ายรถรับรองว่าใช้ B10 ได้ มีอยู่ราวๆครึ่งหนึ่ง อยู่ที่ 5.3 ล้านคัน ที่เหลืออีกร้อยละ 50 จะเป็นในส่วนของรถยุโรปและรถยนต์รุ่นเก่า

โดยเฉพาะส่วนที่เป็น “รถยนต์รุ่นเก่า” จะเป็นรถที่หมดการรับประกันจากค่ายรถแล้ว

ดังนั้น หากนโยบายด้านราคาจูงใจผู้ใช้รถเก่าเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนใจมาใช้ B10 ในอนาคต ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7...เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือก สำหรับรถยุโรปและรถยนต์รุ่นเก่าที่ไม่สามารถใช้ B10 ได้

และยังมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20...น้ำมันดีเซลทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่

สำหรับความพร้อมของผู้ผลิต “ไบโอดีเซล (บี 100)” ปัจจุบันผู้ผลิตไบโอดีเซล ที่เป็นไปตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่องกำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถใช้ผสมเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ทุกชนิด มีทั้งหมด 13 ราย โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 8.272 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่มีเป้าหมายความต้องการใช้ไบโอดีเซลในภาคพลังงาน อยู่ที่ 7.0 ล้านลิตรต่อวัน

ตอกย้ำ...ประโยชน์ของการผลักดันให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ ข้อดีแรก...สร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบในประเทศ ปริมาณการใช้...ภาคพลังงาน และเพื่อการบริโภค

ข้อดีถัดมา...ช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน และข้อดีสุดๆ...ต่อสภาพแวดล้อมชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนก็คือ “ช่วยลดมลพิษทางอากาศ...ปริมาณฝุ่น
PM 2.5” แล้วก็ยังมีข้อดีโบนัสของแถมสำคัญคือ...“ประชาชน” ได้ใช้น้ำมัน “ราคาถูก”

“B10” พลังงานเพื่อทุกคน เพียงแค่ช่วยกันเติมคนละลิตร นอกจากจะพลิกชีวิตเกษตรกรสวนปาล์ม ยัง...พลิกชีวิตคนเมืองชีวิตติดกับดักฝุ่นจิ๋วพิษ “PM 2.5” อันตรายสะสมถึงตาย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ