แบ่งยาแสนรายการ 12 กลุ่ม “พาณิชย์” รื้อต้นทุน-ราคาขายไม่ให้ผู้ป่วยถูกปล้น

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แบ่งยาแสนรายการ 12 กลุ่ม “พาณิชย์” รื้อต้นทุน-ราคาขายไม่ให้ผู้ป่วยถูกปล้น

Date Time: 9 ม.ค. 2563 10:21 น.

Summary

  • พาณิชย์เดินหน้ากำหนดกำไรส่วนต่างราคายา ล่าสุด แบ่งกลุ่มยาแสนรายการเป็น 12 กลุ่มตามต้นทุน เพื่อศึกษาโครงการสร้างต้นทุน ราคาขาย กำไร ก่อนนำมาหาค่าเฉลี่ย และกำหนดให้แต่ละกลุ่ม รพ.เอกชน

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอรัฐบาลนำช้อปดีมีคืนมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 67

พาณิชย์เดินหน้ากำหนดกำไรส่วนต่างราคายา ล่าสุด แบ่งกลุ่มยาแสนรายการเป็น 12 กลุ่มตามต้นทุน เพื่อศึกษาโครงการสร้างต้นทุน ราคาขาย กำไร ก่อนนำมาหาค่าเฉลี่ย และกำหนดให้แต่ละกลุ่ม รพ.เอกชนจะมีกำไรได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุน และเผยแพร่บนเว็บ dit.go.th

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยความคืบหน้าการกำหนดกำไรส่วนต่างราคายาของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อแก้ปัญหาราคายาแพงเกินจริงว่า มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยคณะทำงาน ประกอบด้วย กรม, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านยา ได้แบ่งกลุ่มยาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ส่งมาให้กรมกว่าแสนรายการออกเป็น 12 กลุ่มตามราคาต้นทุน โดยกลุ่ม 1 ราคาเม็ดละ 0-0.20 บาท, กลุ่ม 2 ราคา 0.20-0.50 บาท, กลุ่ม 3 ราคา 0.50-1 บาท, กลุ่ม 4 ราคา 1-5 บาท, กลุ่ม 5 ราคา 5-10 บาท, กลุ่ม 6 ราคา 10-50 บาท, กลุ่ม 7 ราคา 50-100 บาท, กลุ่ม 8 ราคา 100-500 บาท, กลุ่ม 9 ราคา 500-1,000 บาท, กลุ่ม 10 ราคา 1,000-5,000 บาท, กลุ่ม 11 ราคา 5,000-10,000 บาท และกลุ่ม 12 ราคา 10,000 บาท ขึ้นไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่แบ่งยาออกเป็น 12 กลุ่มแล้ว คณะทำงานจะศึกษาและคำนวณต้นทุน ราคาขาย กำไร เพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มก่อนที่จะกำหนดเพดานกำไรว่า ยาในแต่ละกลุ่มมีกำไรได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาต้นทุน แล้วจะประกาศให้โรงพยาบาลเอกชนรับทราบ เพื่อไม่ให้จำหน่ายยาที่แพงเกินไป รวมถึงเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมที่ dit.go.th  หลังจากพบว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งคิดกำไรยาบางรายการสูงมากในระดับ 1,000-10,000% สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

“การแบ่งกลุ่มยาออกเป็น 12 กลุ่มราคา พบว่ายาที่มีราคา 10-50 บาท มี 45,000 รายการ รองลงมาเป็นราคา 1-5 บาท มี 26,000 รายการ เมื่อศึกษาและกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างได้แล้ว กรมจะประกาศขึ้นเว็บไซต์ dit.go.th ทันที โดยการกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างของโรงพยาบาลเอกชน เป็นมาตรการสำคัญ จึงต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ และผลกระทบทุกด้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย”

ทั้งนี้ กรมไม่สามารถกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างของยาทุกรายการเป็นอัตราเดียวกันได้ทั้งหมด เพราะมีผลกระทบต่อผู้จำหน่ายและผู้ป่วยอย่างมาก เช่น ยาที่ซื้อมาในราคาเพียง 20 สตางค์ (สต.) หากกำหนดให้มีกำไรได้ไม่เกิน 100% เท่ากับให้ขายได้ในราคาไม่เกิน 40 สต. ยังถือว่าไม่แพงมาก และผู้ป่วยรับได้ แต่หากเป็นยาที่ต้นทุนสูงถึง 100,000 บาท ถ้ากำไรส่วนต่างไม่เกิน 100% เท่ากับสามารถตั้งราคาขายได้สูง 200,000 บาท จะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ป่วย ดังนั้น ยาที่มีต้นทุนต่ำอาจปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนขายได้ในราคาสูงกว่ายาที่มีต้นทุนสูง

“กรมมีแนวคิดที่จะเผยแพร่ราคากลาง หรือค่าเฉลี่ยของต้นทุนยาแต่ละรายการ ที่ได้ศึกษาโครงสร้างต้นทุนและกำหนดไว้แล้วบนเว็บไซต์ข้างต้น เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ เปรียบเทียบราคาได้ว่า ยาแต่ละชนิดที่ซื้อไป มีต้นทุนอย่างไร เชื่อว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อประชาชนรู้ต้นทุนแล้ว โรงพยาบาลก็อาจปรับลดราคาขายลงมาอยู่ในราคาที่เหมาะสม”

ขณะที่ความคืบหน้าในการนำค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน 5,000 รายการ เช่น ค่าเอกซเรย์, ค่าตรวจเลือด, ค่าห้องพักผู้ป่วย, ค่าอาหาร มาจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ดแล้วจัดส่งให้โรงพยาบาลเอกชนนำไปติดตั้งในที่ที่เห็นได้ง่าย เพื่อให้ประชาชนสแกนเพื่อเปรียบเทียบค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง รวมถึงจะนำเผยแพร่บนเว็บไซต์ เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการไปแล้วกับยาว่า ล่าสุด อาจนำร่อง 300 รายการก่อน จากเดิมที่คาดว่านำร่อง 200 รายการในเร็วๆนี้

“ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากรมมีมาตรการดูแลการรักษาพยาบาล ค่ายาของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและโรงพยาบาลมากที่สุด ทั้งเรื่องของการสร้างการรับรู้เรื่องราคา การกำหนดกำไรส่วนต่าง เพื่อป้องกันโรงพยาบาลคิดราคายาสูงเกินจริง หรือแม้แต่มาตรการทางกฎหมายที่จะดำเนินการฟ้อง ร้องกรณีที่มีการร้องเรียนโรงพยาบาลเอารัด เอาเปรียบ เป็นต้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ