ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของอาเซียน (Regional LNG Hub) ซึ่งเป็นผลศึกษาที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับมอบจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็น Regional LNG Hub เพื่อประกอบธุรกิจซื้อ-ขาย แอลเอ็นจีในอาเซียน
สำหรับแผนดำเนินงานเพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจ Regional LNG Hub จะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในไตรมาส 1 ปี 2563 เช่น ระบบบริการขนถ่าย แอลเอ็นจีให้บริการเติม แอลเอ็นจี แก่เรือที่ใช้ แอลเอ็นจี เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้าแอลเอ็นจีให้เข้ามาใช้บริการ ขณะที่ไตรมาส 2-3 ของปีหน้า จะเริ่มทดลองค้าขายแอลเอ็นจี เชิงพาณิชย์ ที่จะมีการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาค คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในสิ้นปีหน้า หรือต้นปี 2564
ทั้งนี้ ที่ประชุมคาดว่า ผลที่ได้รับจากการพัฒนา Regional LNG Hub จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มความยืดหยุ่นการบริหารจัดการแอลเอ็นจี สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ผลของการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าขายแอลเอ็นจี ที่จะเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวม 165,000 ล้านบาท ใน 10 ปี (ปี 2563-2573) มีผลต่ออัตราการจ้างงานเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้น 16,000 คนต่อปี ช่วยลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้าด้วย และยังได้รับทราบรายงานความก้าวหน้า ของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ Global DCQ ที่ เป็นสัญญาเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้า ของ กฟผ. ให้เกิดความมั่นคงด้านก๊าซธรรมชาติ มีความยืดหยุ่นในการจัดหาก๊าซธรรมขาติโดยเสรี ที่ไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า.