THE ISSUES : “ชิมช้อปใช้” ยังไม่จบ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

THE ISSUES : “ชิมช้อปใช้” ยังไม่จบ

Date Time: 19 พ.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • หลังจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชน นับตั้งแต่ชิมช้อปใช้ เฟสแรก เฟสสอง และล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

Latest

“ชรินทร์” พลิกฟื้น “เดอะ ทวิน ทาวเวอร์” “รัดเข็มขัด” สร้างกำไรจุดขายใหม่ย่านบรรทัดทอง

หลังจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชน นับตั้งแต่ชิมช้อปใช้ เฟสแรก เฟสสอง และล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติคลอดมาตรการชิมช้อปใช้เฟสที่ 3 เพื่อขยายระยะเวลาของมาตรการเฟสแรก และเฟสที่ 2 ออกไป จากเดิมสิ้นสุดใน วันที่ 31 ธ.ค.นี้ ไปเป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ลงทะเบียนไม่ทันสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมเฟสที่ 3 ในรอบนี้ ได้อีก 2 ล้านคน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 62/2563 และขยายผลไปจนถึงตรุษจีนปีหน้านั้น

มีสาเหตุหลักมาจากผลการลงทะเบียนโครงการชิมช้อปใช้ในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 มีประชาชนให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการมากถึง 13 ล้านคน แบ่งออกเป็น เฟสที่ 1 จำนวน 10 ล้านคน และเฟสที่ 2 อีก 3 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้พบว่าประชาชนที่ลงทะเบียนใช้จ่ายเงินในกระเป๋าเงินช่องที่ 1 ของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่รัฐบาลสนับสนุนแบบให้ฟรี คนละ 1,000 บาทเพียงเท่านั้น

โดยไม่สนใจเข้าไปใช้สิทธิพิเศษที่กระทรวงการคลังมอบให้ในกระเป๋าเงินช่องที่ 2 ซึ่งมีการคืนเงิน (แคชแบ็ก) ให้ถึง 15% สูงสุดไม่เกิน 20% หากมียอดใช้จ่าย 30,000 บาท ได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท หรือ 15% และหากใช้จ่ายมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ในส่วนนี้จะมีการชดเชยให้สูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท หรือ 20% รวมเป็นเงินที่กระทรวงการคลังจะชดเชยให้สูงสุดถึง 8,500 บาทก็ตามแต่จนถึงขณะนี้ ยอดการใช้จ่ายในกระเป๋าใบที่ 2 ก็ยังมีเล็ก น้อยเพียงแค่ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่กระเป๋าเงินช่องที่ 1 ที่รัฐบาลแจกฟรีคนละ 1,000 บาท กลับมียอดเบิกเงินไปแล้ว 11,000 ล้านบาท

ดังนั้น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง จึงประกาศเข็นมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ระยะที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่ออุดรอยรั่วจากการดำเนินการชิมช้อปใช้ทั้ง 2 เฟส ที่ผ่านมา

“ชิมช้อปใช้” เฟส 3 ในครั้งนี้ จึงถือเอาโอกาสทองในช่วงของการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี

สั่งปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆที่สร้างความยุ่งยากให้กับฝั่งประชาชนและผู้ประกอบการ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สามารถใช้จ่ายเงินในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเองที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมทำไม่ได้ และยังผ่อนปรนให้ประชาชนที่ลงทะเบียนในเฟส 1 และ 2 รวมถึงเฟสที่ 3 สามารถใช้เงินทั้ง 2 กระเป๋าในจังหวัดใดก็ได้ด้วย

นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนเวลาลงทะเบียน จากเดิมตั้งแต่ เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป เปลี่ยนมาเป็น 08.00 น. และเวลา 18.00 น. พร้อมยังได้กันสิทธิพิเศษให้แก่ “ผู้สูงอายุ” อีกด้วย

โดยผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จำนวน 500,000 คน จะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.2562 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าจะครบจำนวนตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากเปิดลงทะเบียนให้แก่ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการในเฟสที่ 3 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนทางด้านผู้ประกอบการและร้านค้า ก็มีการปรับปรุงให้ขยายวงกว้างมากขึ้น จากเดิมจำกัดให้เฉพาะร้านค้า OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าประชารัฐ โฮมสเตย์ และโรงแรม ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่เพียงบางแห่ง ซึ่งมีธุรกิจและบริการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชนบท

ล่าสุด กระทรวงการคลังตัดสินใจดึงโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว เข้าร่วมโครงการ เช่น เครือโรงแรมเซ็นทารา, ศรีพันวา, ใบหยก แอคคอร์, ดุสิต, ชาเทรียม, ไฮแอท, แมริออท และรีสอร์ตอื่นๆ ทั่วประเทศกว่า 4,600 แห่ง เพื่อขยายร้านค้าที่ชูป้าย “ชิมช้อปใช้” ให้ได้ตามเป้าหมาย 200,000 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 180,000 แห่งทั่วประเทศ

และที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีการร้องขอให้กระทรวงการคลังไฟเขียวตั้งแต่เฟสแรก ก็ถูกผ่อนปรนในครั้งนี้คือ การซื้อ “แพ็กเกจทัวร์” เพื่อท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงตั๋วเครื่องบิน ร้านอาหารและที่พัก ก็เพิ่งจะได้รับอานิสงส์ในรอบนี้

แต่ที่เป็นไฮไลต์ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หลังจากนี้คือ “พยง ศรีวณิช” เอ็มดีธนาคารกรุงไทย ที่ออกหมัดเด็ดเตรียมแจก “ทองคำ” เปิดโอกาสให้ประชาชนและร้านค้า ได้ลุ้นโชคในโครงการ “ชิมช้อปใช้” ทุกๆ สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.2563

ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามหาหนทางเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาให้กระเตื้องขึ้น ไม่ดิ่งเหว หรือถดถอยไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้.

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ