นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการจัดอันดับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกประจำปี 2562 ที่จัดโดย World Economic Forum (WEF) แม้ปีนี้ประเทศไทยมีคะแนนรวมที่สูงกว่าเดิม แต่ประเทศคู่แข่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นมากกว่า ส่งผลให้ไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 40 จากเดิมอันดับ 38 ในปี 2561 ทำให้ไทยต้องยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านทักษะแรงงาน ที่มีคะแนนลดลงจากเดิม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้เร่งศึกษาแนวทางการเตรียมแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับและรับมือการเปลี่ยนแปลง ด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรมทุกระดับ ให้มีศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยจะเน้นด้านการผลิตแรงงาน และความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรมโดยจะมีการศึกษา ทั้งในระดับภาพรวมและรายสาขาอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และแนวทางการพัฒนาแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรม ในสาขาที่เป็นความต้องการและจำเป็น ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
“5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) ประสิทธิภาพด้านแรงงานโดยรวมของไทย ที่แสดงถึงประสิทธิภาพการทำงานของปัจจัยการผลิต สำหรับใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจมีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4.46% แต่หากพิจารณาภาพรวมของประเทศ อาจไม่สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้ หากไม่มีการออกมาตรการใดๆเพิ่มเติม ทำให้แรงงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ไม่สามารถย้ายไปยังสาขาการผลิตที่ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้นได้”
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ 15 กลุ่ม หรือ 38 ผลิตภัณฑ์ เช่น เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ที่ประสิทธิภาพแรงงานขยายตัวน้อยกว่า 2.5% ต่ำกว่าเกณฑ์ชี้วัด ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2561-2580 จึงต้องเตรียมแรงงานให้มีความสอดรับกับการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมยุคใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาทักษะและความรู้แรงงาน ให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ได้.