“พาณิชย์” เผยผลวิเคราะห์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนต่อการค้าไทยในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ และรอบใหม่ที่เริ่ม 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พบไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตลาด ซึ่งสินค้าที่ส่งออกได้ดี ทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ และทดแทนสินค้าสหรัฐฯในจีน มีกว่า 26 รายการ แนะไทยเร่งส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ให้ได้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มยอดส่งออกโค้งสุดท้ายของปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้สรุปสถานการณ์และผลกระทบสงครามการค้า ต่อการส่งออก 6 เดือนแรกของปีนี้ และโอกาสส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ หลังการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยพบว่าไทยยังรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาด ทั้งในสหรัฐฯและจีนได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่ส่วนใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดลดลง แสดงให้เห็นว่าสินค้าไทย มีขีดความสามารถในการส่งออกท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน และมีความผันผวนสูง
ผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนลดลงจากสัดส่วน 20.51% ใน 6 เดือนของปีที่ผ่านมาเหลือ 18.02% ในช่วงเดียวกันของปีนี้ ประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯลดลง ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป อินเดีย เวียดนาม ไต้หวัน และไทย โดยมีสัดส่วนเพิ่มจาก 1.27% เป็น 1.31% ขณะที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯลดลงจากสัดส่วน 8.17% เหลือ 6.04% ซึ่งประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี บราซิล มาเลเซีย รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และไทย โดยมีสัดส่วนเพิ่มจาก 2.12% เป็น 2.23%
สินค้าของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกทดแทนในตลาดสหรัฐฯและจีน ภายใต้มาตรการตอบโต้ที่สหรัฐฯขึ้นภาษีจีน 250,000 ล้านเหรียญ และจีนตอบโต้สหรัฐฯ มูลค่า 110,000 ล้านเหรียญ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว พบว่าสินค้าไทยที่ส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เช่น ปลานิลแช่แข็ง กุ้งและปลาหมึกแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผักและผลไม้) และสินค้าที่ไทยส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำผึ้ง แป้ง ผงที่ทำจากพืช กระดาษแข็ง เครื่องแก้วสำหรับใช้ในครัวเรือนหรือรวมทั้งสองตลาดกว่า 26 รายการ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนสินค้าจากจีนในตลาดสหรัฐฯ และทดแทนสินค้าสหรัฐฯในจีนเพิ่มเติมอีก ภายใต้มาตรการใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ เช่น มะพร้าว ขิง ทุเรียน ลูกกอล์ฟ เลนส์แว่นตา เครื่องซักผ้า ชุดชั้นในสตรี พืชมีชีวิตและต้นไม้ (กล้วยไม้) และสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในจีน เช่น ผลิตภัณฑ์นมและครีม ขนมที่ทำจากน้ำตาล (ที่ไม่มีโกโก้ผสม) ยางนอกชนิดอัดลม
ทั้งนี้ สนค.มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ส่งออกไทย คือ ควรเร่งขยายการส่งออกสินค้าที่สามารถทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และทดแทนสินค้าสหรัฐฯในจีนให้ได้เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และควรดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ กรณีที่นักลงทุนสหรัฐฯอาจย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเดินหน้า ลดผลกระทบด้านการส่งออก จากปัญหาเทรดวอร์แล้ว โดยได้เดินหน้าขยายตลาดใหม่ให้มากขึ้น เน้นเจาะตลาดเมืองรองในตลาดจีนและรัฐใหม่ๆ ในอินเดีย รวมถึงประเทศที่ยังมีศักยภาพนำเข้าสินค้าไทย ทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซียและเครือเอกราช (ซีไอเอส) และซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ขณะเดียวกันก็จะจัดคณะผู้แทนการค้าไทยเดินทาง ไปเปิดสินค้าในประเทศต่างๆและเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป
ปัจจุบันมาตรการตอบโต้ทางการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว คิดเป็นมูลค่า 480,000 ล้านเหรียญ เป็นส่วนที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 383,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 68% ของการนำเข้าจากจีน และจีนขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ 95,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 60% ของการนำเข้าจากสหรัฐฯ และหากตอบโต้กันเต็มรูปแบบ วันที่ 15 ธ.ค.นี้ สหรัฐฯจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 540,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีน และจีนจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 100,000 ล้านเหรียญ หรือ 63% ของการนำเข้าจากสหรัฐฯ.