ขนส่งทางราง ยันลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบมาแน่! ชูแนวทางลดราคา “ออกตั๋วเดือน–เพิ่มโปรโมชันช่วงเวลาคนไม่นิยมเดินทาง–ข้าราชการเบิกค่ารถไฟฟ้าได้–ใช้ค่าโดยสารหักลดหย่อนภาษี” จ่อเสนอ “ศักดิ์สยาม” เห็นชอบแนวทางก่อนเสนอ ครม. ด้านขยายรถไฟฟ้าสถานีตากสิน อนุมัติเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้
นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบ เพื่อดำเนินการตามมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชนตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ซึ่งขณะนี้ ได้ข้อสรุปร่วมกันกับผู้ให้บริการขนส่งทางรางทั้งหมดแล้ว ว่าจะมีการปรับลดราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าทั้งหมด แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดของการปรับลดราคาค่าโดยสารได้ เนื่องจากทาง ขร.จะต้องนำผลการประชุมเสนอต่อ รมว.คมนาคม เพื่อพิจารณาก่อนที่จะเสนอ ต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อไป
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการกำหนดมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนออกมาเป็นมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น จะแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ที่ ขร.จะสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานที่ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ออกตั๋วเดือน
นอกจากนั้น ยังได้เห็นชอบให้ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีลดราคาค่าโดยสารในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการในช่วงดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งนอกเวลาเร่งด่วนจะมี 3 ช่วง คือ ช่วงตั้งแต่เปิดให้บริการ-07.00 น., ช่วง 10.00-16.00 น. และ ช่วง 20.00 น.-ปิดให้บริการ โดยในช่วงนอกเวลาเร่งด่วนนี้จะมีเวลารวมประมาณ 13 ชม. ที่จะมีผู้โดยสารเดินทางเพียง 45% เท่านั้น จึงขอให้ผู้ให้บริการของรถไฟฟ้าแต่ละสายทางไปกำหนดแผนการตลาด หรือโปรโมชัน ดึงดูดการซื้อ กระตุ้นยอดขายให้คนหันมาเดินทางมากขึ้น
ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น จะให้ทำโปรโมชันเพื่อดึงดูดการขายแล้วสามารถนำค่าตั๋วโดยสารมาลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนั้น จะเสนอให้หน่วยงานราชการสามารถซื้อตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าแล้วนำมาเบิกเป็นค่าเดินทางได้ทันที จากเดิมจะสามารถเบิกค่าเดินทางได้ เมื่อกรณีที่ไม่สามารถใช้รถหลวงเดินทางได้ก่อน
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสะพานตากสิน (S6) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการรูปแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมโครงการปรับปรุงสะพานตากสินและขยายสถานี รถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสิน (S6) เพื่อแก้ปัญหาจราจรที่เป็นคอขวด รวมทั้งเตรียมการรองรับปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยจะปรับปรุงเปลี่ยนทางเดินรถจากช่องทางเดี่ยวบนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นช่องทางคู่ เพิ่มชานชาลา และทางวิ่งเดี่ยวเป็นทางวิ่งคู่ เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานรถไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น
โดยต้องทำการเจาะช่องผิวจราจรด้านในสะพานเพื่อขยายรางรถไฟฟ้าข้างละ 1.80 เมตร และขยายบริเวณด้านนอกทดแทนเป็นระยะทาง 2.30 เมตร ปรับปรุงอาคารพักโดยสารและทางเชื่อมต่อสถานี บีทีเอสจะเป็นผู้ก่อสร้าง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่าในช่วงก่อสร้างจะต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อการใช้งานปกติ ก่อนที่จะทุบของเดิมต้องก่อสร้างของใหม่ให้เสร็จก่อน เพื่อให้สามารถสัญจรไปมาได้ โดยขณะนี้ กทม.ได้ส่งผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ (อีไอเอ) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)พิจารณาแล้ว คาดจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ปลายปีนี้ใช้ระยะเวลา 40 เดือน.