นายบุญส่ง ศรสกุล นายกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด เปิดเผยภายหลังยื่นหนังสือเพื่อขอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะประจำทางทุกหมวดที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลได้เคยจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะไว้ว่า 1.ขอให้กระทรวงคมนาคมขยายอายุการใช้งานรถตู้สาธารณะทุกหมวดจากเดิมที่บังคับให้อายุใช้งานไม่เกิน 10 ปี ให้ขยายอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 15 ปี เนื่องจากการบังคับดังกล่าวทำให้รถตู้กว่า 8,000 คันได้รับผลกระทบหมดอาชีพ ต้องหยุดวิ่งให้บริการมาตั้งแต่ปี 60-61 จำนวน 1,285 คัน และจะต้องหยุดบริการในปี 62-68 อีกรวมกว่า 5,760 คัน
2.ขอให้กระทรวงคมนาคมเปิดภาคสมัครใจให้ผู้ประกอบการ กรณีที่รถตู้ที่มีอายุ 10 ปี จากเดิมบังคับให้รถอายุ 10 ปีต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ให้เปิดกว้างหากผู้ประกอบการรายใดไม่ประสงค์เปลี่ยนรถเป็นมินิบัสก็ให้สามารถทำได้ เนื่องจากเดิมต้นทุนรถตู้ประมาณ 1.3 ล้านบาท/คัน หากเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส จะมีราคาสูงถึง 2.5 ล้านบาท/คันทันที ส่วนหากผู้ประกอบการที่สมัครใจเปลี่ยนเป็นมินิบัส ก็ควรช่วยเหลือ เช่น ลดภาษีนำเข้าหรือการปล่อยกู้ดอกต่ำ 3. ขอให้รัฐบาลยังคงรถตู้หมวด 2 (ช.) ซึ่งเป็นรถตู้ที่ภาครัฐสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการจัดระเบียบรถตู้ และที่ได้มีการกำหนดว่ารถตู้ที่จัดระเบียบช่วงและหมวด ช. ดังกล่าว จะต้องมีอายุสัญญาวิ่งให้บริการเพียง 7 ปีเท่านั้น
ซึ่งจะหมดอายุในปี 64 โดยขอให้กระทรวงพิจารณาให้รถประเภทนี้ยังสามารถวิ่งต่อได้โดยมีอายุสัญญา 10 ปี ด้านนายชนกันต์ พร้อมมูล นายกสมาคมรถตู้วีไอพีประเทศไทย เผยว่า สมาชิกรถตู้รับจ้างไม่ประจำทางได้มายื่นหนังสือขอให้ รมว.คมนาคม ช่วยเหลือกรณีที่กฎหมายของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ไม่เป็นธรรม โดยที่ผ่านมามีการบังคับให้รถติดจีพีเอส เพื่อจำกัดความเร็วไม่ให้เกิน 90 กม./ชม. และให้ขับชิดชอบทางด้านซ้าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของรถตู้โดยสารเพื่อการท่องเที่ยวที่ใช้งานระยะไกลและต้องใช้ความเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถตู้ท่องเที่ยวเดือดร้อนในวงกว้าง เพราะหากขับเร็วจะถูกปรับทันที 1,000 บาท/ความผิด 1 ครั้ง รวมทั้งบางครั้งรถจำเป็นต้องใช้ความเร็วเกิน 90 กม./ชม ในช่วงการแซงแต่ก็ยังถูกจับปรับ โดยมองว่ามาตรการการบังคับให้รถติดจีพีเอสตลอดเวลา ยังเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลและขาดอิสรภาพในการเดินทาง.