ครม.รับทราบสถานการณ์ภัยแล้ง จัด 13 มาตรการ “เร่งด่วน-สั้น-ยาว” แก้ปัญหา ระบุ อีสาน-เหนือ-กลาง ปริมาณน้ำฝนยังน้อยกว่าที่คาด แถม 41 จังหวัดทั่วประเทศปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผนที่รัฐกำหนด หวั่นภัยแล้งลามกระทบแผนจัดสรรน้ำปีหน้า
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูฝนและมาตรการแก้ไขตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ โดยได้กำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว
โดย 6 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเหนืออ่างฯ และพื้นที่เกษตร 2.ให้กระทรวง มหาดไทย กลาโหม เกษตรและสหกรณ์ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งสำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำ พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหา 3.ปรับแผนการระบายน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% 4.ปรับลดแผนระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาแบบขั้นบันได และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมหาดไทยเตรียมมาตรการรองรับ 5.ให้การประปานครหลวงวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มแม่กลอง ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมชลประทานเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม 6.ให้หน่วยงานระดับกรมและจังหวัด เร่งทำความเข้าใจสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไข ให้ ส.ส. ในพื้นที่รับทราบ
ขณะที่ 4 มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1.เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณงบกลาง ปี 2562 ก่อสร้างซ่อมแซมฝายชะลอน้ำให้ทันต่อการรับน้ำในฤดูฝนของปีนี้ รวมทั้งงานขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำ 2.ให้กองทัพบกปรับแผนการขุดเจาะบ่อบาดาล และซ่อมแซมล้างบ่อในพื้นที่ฝนตกน้อยกว่าปกติ 3.ให้กระทรวงมหาดไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนงานโครงการเพื่อของบประมาณตามความสำคัญเร่งด่วน โดยเน้นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ควบคู่การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ปริมาณฝนตกน้อยกว่า 60 มิลลิเมตรต่อเดือน 4.บูรณาการ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรและสหกรณ์
และกระทรวงคลัง กำหนดนโยบายช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่น สินเชื่อเงินด่วนหรือฉุกเฉินเพื่อสร้างอาชีพ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตฯ พักชำระหนี้เงินต้น สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ชดเชยเยี่ยวยา การสร้างอาชีพเสริม ฯลฯ
นอกจากนี้ มี 3 มาตรการระยะยาว คือ 1. เร่งรัดการปฏิบัติงานโครงการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ รวมทั้งโครงการแหล่งน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้เป็น ไปตามแผน 2.ให้ สทนช. จัดทำทะเบียน แหล่งน้ำ ทะเบียนผู้ใช้น้ำ แผนที่แสดงพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำ 3.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการปรับแผนการเพาะปลูกพืช และปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้าโดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ นอกจากนี้ สทนช.ได้เปิดศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่ติดตามวิเคราะห์ สถานการณ์ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวม 38,190 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุ ซึ่งแหล่งเก็บน้ำทั้งหมดในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก มีน้ำน้อยกว่า 50% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 20 แห่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% นอกจากนี้ ฤดูแล้งที่ผ่านมายังมีการใช้น้ำมากกว่า 3,589 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ 41 จังหวัด ปลูกพืชฤดูแล้งมากกว่าแผนถึง 1.61 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้คาดการณ์สถานการณ์ ช่วงครึ่งหลังฤดูฝนปี 2562 ตั้งแต่ ส.ค.-ก.ย.2562 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา และจะมีพายุเข้า 1-2 ลูก ซึ่งหากคาดการณ์ในรายพื้นที่ จะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดน้ำท่วม ขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนน้อยและคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่แล้งสุด ทำให้ปริมาณฝนรวมตลอดฤดูฝนยังคงต่ำกว่าค่าปกติ 5-10% ซึ่งมีแนวโน้มกระทบต่อภาคเกษตรและอุปโภคบริโภค ในฤดูฝนนี้ต่อเนื่องถึงฤดูแล้งหน้า เว้นแต่ในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับอิทธิพลจากพายุ ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่น้อยกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการปลูกพืชในฤดูแล้งได้.