นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ประกอบด้วย 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.การบริหารจัดการเพื่อใช้เป็นแผนที่นำทางให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องและเป็นทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ แผนแม่บท 20 ปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งเสาแรก คือ กฎหมาย ที่ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 27 ม.ค.62 เสาที่ 2 คือ ตัวแผนแม่บท และเสาที่ 3 หน่วยงานบริหารจัดการน้ำที่มีเอกภาพ ซึ่งได้จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้เป็นหน่วยงานหลัก ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง และขณะนี้ได้มีการเพิ่มเสาหลักที่สี่ คือ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทให้ไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญในแผนแม่บทน้ำฯ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ 1.มีการกำหนดตัวชี้วัดเชิงผลผลิตเพิ่มเติม 2.กำหนดหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุน โดยมีภาคเอกชนมาร่วมด้วย และ 3.กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ 66 พื้นที่ 34.62 ล้านไร่
ตั้งเป้าหมายในปี 2573 ทุกหมู่บ้านเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม 75,032 หมู่บ้าน พัฒนาน้ำต้นทุน 27,299 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ทั้งแหล่งน้ำใหม่และพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพิ่มพื้นที่กระจายน้ำ 31 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ พื้นที่เกษตรน้ำฝน 13 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการเกษตร 10,000 แห่ง 6,000 ล้าน ลบ.ม. ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ 764 แห่ง ลดผลกระทบจากอุทกภัย 15 ล้านไร่ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3.5 ล้านไร่ และก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 541,894 แห่ง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ได้สั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มาสืบสาน รักษา ต่อยอดการบริหารจัดการน้ำของประเทศ.