“ค้าภายใน” เดินหน้าคุมราคายา เฮ!ศาลปกครองปฏิเสธคำขอโรงพยาบาลเอกชน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ค้าภายใน” เดินหน้าคุมราคายา เฮ!ศาลปกครองปฏิเสธคำขอโรงพยาบาลเอกชน

Date Time: 14 มิ.ย. 2562 08:47 น.

Summary

  • กรมการค้าภายใน เฮ! ศาลปกครองสูงสุด ปฏิเสธคำขอกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ที่ขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศควบคุมราคายา เวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาล เป็นการชั่วคราว

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

กรมการค้าภายใน เฮ! ศาลปกครองสูงสุด ปฏิเสธคำขอกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ที่ขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศควบคุมราคายา เวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาล เป็นการชั่วคราว หลังไม่พบว่า ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเสียหายร้ายแรง เชื่อยกต่อไป การตัดสินให้เพิกถอนประกาศ กกร.เอายา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ ออกจากสินค้าและบริการควบคุมปี 62 ไม่น่ากังวล!! พร้อมเดินหน้าบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลโรงพยาบาลต่อเนื่อง

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.62 ยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้สินค้ายา และเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ รวมถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าและบริการควบคุมปี 62 ภายหลังจากที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนรวม 42 รายได้ฟ้องร้องไปเมื่อเดือน เม.ย.62 ว่า โรงพยาบาลเอกชนได้ฟ้องร้องต่อศาลใน 2 ประเด็น คือขอให้ทุเลาประกาศ กกร. และขอให้เพิกถอนประกาศ กกร.ที่กำหนดให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม

สำหรับคำสั่งของศาล เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.62 ที่มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศ กกร.นั้น เป็นเพราะศาลพิจารณาเห็นแล้วว่า ประกาศดังกล่าวออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 รายจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง แต่ในส่วนที่ฟ้องร้องให้ศาลเพิกถอนประกาศ กกร.นั้น ศาลจะพิจารณาหลังจากนี้ “ศาลมีคำสั่งไม่ทุเลาการบังคับตามประกาศ กกร. ก็แสดงว่า ประกาศ กกร. เป็นไปโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชน ขั้นตอนต่อไปศาลจะพิจารณาว่าจะยกเลิกประกาศ กกร.ที่ให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุมหรือไม่ ก็น่าจะเป็นไปตามข้อเท็จจริง”

อย่างไรก็ตาม กรมยังคงเดินหน้าบังคับใช้ประกาศ กกร.ฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องส่งราคาซื้อและขายยาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์มาให้กรมภายใน 12 ก.ค.นี้ และหากมีการเปลี่ยนแปลงราคา ต้องแจ้งภายใน 15 วัน รวมถึงต้องประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ และต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ และในการจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้าด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งจะมีโทษทั้งจำและปรับ

นายประโยชน์กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องเปิดเผยราคายา ถือเป็นการสร้างความโปร่งใสในทางธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับมติของที่ประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) และคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สนับสนุนความโปร่งใสในตลาดยา วัคซีน และผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการทางการแพทย์ เพราะราคายา และบริการทางการแพทย์ที่สูงเกินสมควรเป็น ปัญหาของทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น “เมื่อเร็วๆนี้ นักวิเคราะห์หุ้นได้เข้า พบผม เลยถามเขาว่า มีประเทศใดในเอเชียที่โรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ เขาก็บอกว่ามีไทย จีน อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ แล้วยังบอกอีกว่า ซื้อหุ้นโรงพยาบาลเอกชนของไทยได้ กำไรมากที่สุด เพราะผลประกอบการดีมาก ซึ่งชี้ให้เห็น ว่า ผลกำไรของโรงพยาบาลเอกชนของไทยดีมาก อย่างไร ก็ตาม รัฐบาลของหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่จีนเริ่มเข้ามากำกับดูแลธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นแล้ว”

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 ในคดีที่ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กับบริษัทผู้ประกอบการโรงพยาบาลยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคา สินค้าและบริการ กับพวกรวม 4 ราย คือ รมว.กระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าเหตุคดีนี้เกิดจากมีข้อร้องเรียนในเรื่องราคายาและบริการทางการแพทย์มีราคาสูงเกินสมควร คณะกรรมการกลางฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการค้าภายในประเทศ จึงกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนผู้บริโภค เพื่อแก้ปัญหาราคายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย และได้ออกประกาศดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ จึงเห็นว่าคณะกรรมการกลางฯออกประกาศนี้ โดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ไม่อาจถือได้ว่ากฎดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้ง ตาม พ.ร.บ.กำหนดให้คณะกรรมการกลางฯมีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าควบคุมได้ และเมื่อประกาศแล้วยังมีหน้าที่กำหนดราคาซื้อหรือราคาจำหน่ายสินค้า หรือมาตรการอื่นๆ เกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนกับบริษัทผู้ประกอบการโรงพยาบาล ทั้ง 42 รายที่ฟ้องคดีนี้ อยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการ คณะกรรมการกลางฯ ยังมิได้กำหนดมาตรการในรายละเอียดเรื่องราคาสินค้าหรือบริการแต่อย่างใด จึงยังไม่มีมาตรการใดๆ มาบังคับกับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนต้องปฏิบัติในการเรียกเก็บค่ายาและค่ารักษาพยาบาลในอัตราใด จึงไม่อาจถือได้ว่า หากให้กฎพิพาทใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดี จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กรณีคำขอทุเลาการบังคับตามกฎนี้ จึงเป็นคำขอที่ไม่ครบหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข จึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎดังกล่าว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ