ดันส่งออก 50 สินค้าท้องถิ่น เฟ้นหาจาก“ของดี” ทั่วไทย 200 รายการ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดันส่งออก 50 สินค้าท้องถิ่น เฟ้นหาจาก“ของดี” ทั่วไทย 200 รายการ

Date Time: 14 มิ.ย. 2562 08:52 น.

Summary

  • นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าจัดกิจกรรมเชื่อมโยงนำสินค้าของผู้ประกอบการ

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

ปั้นผู้ประกอบการหน้าใหม่สู่ตลาดโลก

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าจัดกิจกรรมเชื่อมโยงนำสินค้าของผู้ประกอบการในท้องถิ่นมาต่อยอดเพื่อให้สามารถส่งออกสู่ต่างประเทศได้ ตามนโยบายผลักดันสินค้าและบริการท้องถิ่นออกสู่ตลาดโลก (Local to Global) เบื้องต้นพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศได้เฟ้นหาสินค้าจากผู้ประกอบการท้องถิ่นมาได้ 200 รายการ ที่อยู่นอกเหนือจากสินค้าในกลุ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) และสินค้าเกษตรที่มีในท้องถิ่นอยู่แล้ว

โดยช่วงวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ทูตพาณิชย์ได้มาร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-World of Food Asia 2019 ได้มาพิจารณาคัดเลือกสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกจำนวน 50 สินค้าในเบื้องต้น เพื่อให้เป็นผู้ส่งออกรายใหม่หรือ New Faces ซึ่งคัดเลือกตามความต้องการของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก โดยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ส่งออกได้ แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก คืออาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “สินค้าท้องถิ่นที่จะพัฒนาส่งออกไปขายต่างประเทศได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้แตกต่าง ตามความต้องการของแต่ละตลาดในสินค้าประเภทเดียวกัน รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนได้เร็วตามรสนิยมของผู้บริโภค และการกำหนดราคาขายก็เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้”

นางสาวบรรจงจิตต์กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือบรรจุภัณฑ์ (packaging) ต้องมีในการระบุข้อมูลของสินค้า เรื่องราวความเป็นมาที่จะทำให้สินค้าได้รับความสนใจ นอกจากนี้บางประเทศจำเป็นต้องมีตราสัญลักษณ์รับรองต่างๆก่อนจะไปวางตลาดได้ หากเป็นอาหาร เช่น ในตลาดตะวันออกกลางต้องมีตรารับรองฮาลาล หรือตรารับรองสินค้าออร์แกนิก หรือในตลาดจีนจะต้องมีการจดเครื่องหมายการค้าก่อน “แม้กรมจะคัดเลือกเพียง 50 สินค้านำร่องก่อน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นกลุ่มนี้ แต่สินค้าที่เหลืออยู่ในจำนวน 200 สินค้า ที่พาณิชย์จังหวัดคัดมา กรมไม่ได้ทิ้งแต่อยู่ในข่ายที่ต้องนำมาดูว่าจะพัฒนาช่วยเหลืออย่างไรต่อไป เพื่อให้ก้าวมาสู่ผู้ส่งออกหน้าใหม่ได้”

ทั้งนี้ นโยบายผลักดันสินค้าและบริการท้องถิ่นออกสู่ตลาดโลก เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีเป้าหมายผลักดันให้อัตราเติบโตของการส่งออกไทยปี 62 สามารถเติบโตได้ตามเป้าที่กระทรวงตั้งไว้ที่ 3%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ