รถไฟเชื่อม 3 สนามบินผ่านฉลุย!

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รถไฟเชื่อม 3 สนามบินผ่านฉลุย!

Date Time: 29 พ.ค. 2562 08:17 น.

Summary

  • ครม.ผ่านฉลุยร่วมลงทุนไฮ สปีด เทรน สายแรกของไทย เชื่อม 3 สนามบิน อนุมัติงบลงทุน 149,650 ล้านบาท โดย รฟท.จ่ายให้กลุ่ม CPH ปีละ 14,965 ล้านบาท

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

รัฐลงขัน 1.4 แสนล้าน-รฟท.แบ่งจ่าย 10 ปี

ครม.ผ่านฉลุยร่วมลงทุนไฮ สปีด เทรน สายแรกของไทย เชื่อม 3 สนามบิน อนุมัติงบลงทุน 149,650 ล้านบาท โดย รฟท.จ่ายให้กลุ่ม CPH ปีละ 14,965 ล้านบาท นาน 10 ปีนับจากปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2567 พร้อมสั่งตั้งหน่วยงานกำกับ 5 ด้าน ขณะที่ “อาคม” เผย ครม.ไฟเขียวสร้างรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-นครพนม” หลังรอคอยมากว่า 50 ปี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 พ.ค.) มีมติอนุมัติและเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท China Rsilway Construction Corporation Limited, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบไว้ โดย ครม. เห็นชอบให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ วงเงิน 149,650 ล้านบาท ซึ่ง รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการแก่เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปีๆ ละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปีหลังจากเริ่มการให้บริการโครงการ

“กลุ่ม CPH ได้ยื่นเสนอมูลค่าเงินที่รัฐร่วมลงทุน 149,650 ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (เอ็นพีวี) มีค่าเท่ากับ 117,226.87 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 119,425.75 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 2,198.88 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นเวลา 50 ปี และเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ โดยมีมูลค่าโครงการ ณ ราคาปัจจุบัน 224,500 ล้านบาท และ อีก 50 ปีข้างหน้าโครงการจะกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ คาดมูลค่าในขณะนั้นกว่า 300,000 ล้านบาท โดย รฟท.จะลงนามในสัญญากับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ภาคเอกชนต้องจัดตั้งขึ้นมากลางเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี 2567”

ขณะเดียวกัน ครม. ได้เห็นชอบให้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับและบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนของโครงการ พร้อมทั้งกรอบอัตรากำลังและกรอบวงเงินค่าใช้จ่าย โดยต้องเริ่มทำงานทันทีที่สัญญาร่วมลงทุนโครงการมีผล คาดว่าประมาณเดือน ก.ค. 2562 มีหน้าที่ความรับผิดชอบ 5 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายก่อสร้างและเดินรถ 2.ฝ่ายกำกับดูแลการส่งมอบโครงการ Airport rail Link 3.ฝ่ายกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4.ฝ่ายกำกับดูแลสัญญา 5.ฝ่ายบริหารจัดการโครงการ โดยมีผู้อำนวยการโครงการ ซึ่งเป็นผู้แทนสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) บริหารและกำกับการทำงานของทั้ง 5 ฝ่าย

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบร่างประกาศกพอ. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และพิธีการศุลกากรสำหรับเขตปลอดภาษีภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้การจัดเก็บภาษีศุลกากร และการส่งของกลับเข้าเขตปลอดภาษีในเขตส่งเสริม เป็นไปด้วยความสะดวก และยังช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ครม.มีมติให้ รฟท.ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสาร-คาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงินงบ ประมาณ 66,848.33 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 8 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-68 โดยในปี 2562 จะเริ่มเวนคืนที่ดิน 7,100 แปลงเพื่อมาก่อสร้าง ส่วนปี 2563 จะเริ่มประกวดราคา หลังจากนั้นก่อสร้าง แล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2567 หรือต้นปี 2568 ซึ่งจากผลการศึกษาระบุว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะรองรับผู้โดยสารได้กว่า 3.8 ล้านคน/ปี รองรับปริมาณสินค้าได้ 700,000 ตัน/ปี และเมื่อเปิดให้บริการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 13% นอกจากนั้นคาดการณ์ว่าในปี 2599 จะขนผู้โดยสารได้ 8.3 ล้านคน/ปี ขนสินค้าได้กว่า 1 ล้านตัน/ปี

“รถไฟทางคู่สายนี้ ถือเป็นรถไฟสายใหม่ ที่เพิ่งอนุมัติให้ก่อสร้าง เป็นโครงการที่จะทำมานานกว่า 50 ปีแล้ว และได้ศึกษาเมื่อปี 2532 โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครง การ ค่าเวนคืนต่างๆ ขณะที่กระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ และรฟท.เป็นผู้กู้เงิน จะมีพื้นที่เวนคืนปี 7,000 แปลง วงเงินเวนคืน 10,000 ล้านบาท”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ