นับตั้งแต่ปี 2560 สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “Thailand 4.0” โดยใช้การลงทุนเป็นตัวนำ หรือ Investmentled Transformation ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560
ขณะที่ตลอดปี 2561 บีโอไอได้พัฒนามาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับแนวทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนออกมาหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ช่วยดึงการลงทุนจากต่างประเทศไหลบ่ากลับมาประเทศไทยแล้ว
“ทีมเศรษฐกิจ” ขอใช้โอกาสนี้รวบรวมให้ท่านผู้อ่านที่เป็นประชาชนทั่วไป และนักลงทุนได้เห็นภาพมาตรการส่งเสริมการลงทุน ที่ท่านสามารถเก็บไว้ใช้เป็น “คู่มือ” ได้เลย
มาเริ่มต้นดูในกิจการทั่วไปจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3–8 ปี (ส่วนใหญ่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษีตามเงินลงทุน) แต่กิจการในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ Biotec, Nanotec, Advanced Material, Digital จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปี (ไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี) ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก สิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี
หรือหากพิจารณาง่ายๆ การกำหนดสิทธิและประโยชน์จะแบ่งตามประเภทกิจการ (Activity-based Incentives) สิทธิประโยชน์แตกต่างตามระดับเทคโนโลยี มูลค่าเพิ่มและการสนับสนุนห่วงโซ่การผลิต ดังนี้ (ดูตามตาราง)
ประเภท A1 อุตสาหกรรมฐานความรู้ เน้น R&D และการออกแบบ ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก สิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี
A2 โครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกิจการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีลงทุนในประเทศน้อยหรือยังไม่มี ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก สิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี
A3 กิจการใช้เทคโนโลยีสูงที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีฐานผลิตอยู่บ้างแล้ว ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก สิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี
A4 กิจการที่มีระดับเทคโนโลยีไม่เท่า A1-A3 แต่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบในประเทศ และเสริม Value Chain ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก สิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี
และ B1-B2 อุตสาหกรรมสนับสนุนที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง แต่สำคัญต่อ Value Chain โดย B1 ได้ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก สิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี ส่วน B2 ได้ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก สิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่ใช่ภาษี
นอกจากนี้ ในกิจการในกลุ่มวิจัยและพัฒนาจะได้รับยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อการวิจัยพัฒนา และกิจการที่มีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 1-3 ปี
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนตัดสินใจปักหลักในประเทศไทยรวดเร็วขึ้น
บีโอไอจึงออกสิทธิประโยชน์ลดหย่อน (เพิ่มเติม) ภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับการยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่าง 19 พฤศจิกายน 2561-30 ธันวาคม 2562 และต้องมีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนมากกว่าหรือเท่ากับ 1,000 ล้านบาท เป็นประเภทกิจการในกลุ่ม A1-A3 ประเภทกิจการที่ได้สิทธิยกเว้นภาษี 5-8 ปี ตั้งอยู่นอกเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร และต้องไม่ขยายเวลาการดำเนินงานในทุกขั้นตอน
พร้อมกับกำหนดให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ (MAI) ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีกเท่าตัวของเงินลงทุน โดยเพิ่มวงเงินของโครงการเป็น 200% ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563
และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี จำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนที่ใช้ในการปรับปรุงนับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม (จะเพิ่มวงเงินของโครงการจาก 50% เป็น 100% กรณีใช้ระบบ Automation ในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเครื่องจักร)
นอกจากนี้ ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยเพิ่มประเภทกิจการใหม่ๆ และแก้เงื่อนไขเพื่อสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ สิทธิประโยชน์ กรณีที่ 1 บริการระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี (จำกัดวงเงิน) กรณีที่ 2 บริหารระบบอัจฉริยะไม่ครบ 7 ด้าน ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5 ปี และถ้าเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 5 ปี และมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน (ดูตามตาราง)
พร้อมกันนี้ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศ ด้านนวัตกรรมและดิจิทัล กรณีของศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม (Innovation Incubation Center) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (จำกัดวงเงิน) อีกด้วย
ไฮไลต์ของมาตรการส่งเสริมการลงทุนน่าจะอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC : Eastern Economic Corridor) ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งในปี 2561 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นี้ 422 โครงการ เงินลงทุน 683,910 ล้านบาท แบ่งเป็น ฉะเชิงเทรา 73 โครงการ เงินลงทุน 48,300 ล้านบาท ชลบุรี 193 โครงการ เงินลงทุน 576,910 ล้านบาท และระยอง 156 โครงการ เงินลงทุน 58,700 ล้านบาท
สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้ในอีอีซี นับว่าสูงที่สุด โดยเฉพาะ กิจการเป้าหมายที่ใน “อีอีซี แพ็กเกจ” จะได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคลถึง 13 ปี (ดูรายละเอียดในตาราง)
มีหลักเกณฑ์ คือ ต้องอยู่ในประเภทกิจการที่กำหนด (กลุ่มที่ได้ยกเว้นภาษีเงินได้ 5-8 ปี)
ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด ได้แก่ 1.เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่น เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi), เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd), เมืองการบินภาคตะวันออก (EEC Aero-tropolis : EEC-A) 2.เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปัจจุบันมี 21 เขต ++ 3.พื้นที่ในนิคม/เขตอุตสาหกรรมใน EEC ที่คณะกรรมการ EEC มิได้ประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมตามข้อ 2
นอกจากนี้ ต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา/วิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหรือบุคลากร และต้องยื่นคำขอเพื่อรับสิทธิตามมาตรการนี้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562
*********************
นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเขตจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด สิทธิประโยชน์สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก
สิ่งเหล่านี้แหละที่ช่วยดึงดูดทั่วโลกให้มาลงทุนในประเทศไทย นำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและปากท้องของคนไทย ตามที่แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า การส่งเสริมการลงทุนส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 418,548 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการส่งเสริมการลงทุน.
ทีมเศรษฐกิจ