นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังสหภาพยุโรป หรืออียู ปลดใบเหลือง กรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู ของไทยแล้ว อุตสาหกรรมประมงไทยต้องเพิ่มความเข้มงวดภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมงให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศผู้นำเข้า ซึ่งมั่นใจว่า การส่งออก ของประมงไทยจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ “ที่ผ่านมาใบเหลืองที่อียูประกาศ แม้ไม่ใช่การสั่งแบนสินค้าประมงไทย แต่การส่งออกไทยก็ลดลงทุกปี เพราะผู้นำเข้าได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า ไม่อยากเลือกซื้อสินค้าจากประเทศที่มีปัญหาไอยูยู ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้ข้อกังขาดังกล่าวจะถูกตัดออกไป”
อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.การประมง ที่กรมประมงบังคับใช้ ถ้ารัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะมีสิทธิในการบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียมกัน เพียงแต่ พ.ร.ก.นั้นไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จึงเท่ากับว่าสภาฯไม่มีสิทธิ์ปรับเปลี่ยน ต่างจาก พ.ร.บ.ที่ทุกฉบับต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ “แม้รัฐจะพิจารณาปรับเปลี่ยน พ.ร.ก.การประมงในรูปแบบใด ก็ต้องยึดหลักความเข้มงวดทุกมาตราเป็นหลัก ไม่ควรมีโทษทางอาญา แต่ควรใช้วิธีทางแพ่งปรับด้วยมูลค่าสูงสุด หรือยึดใบอนุญาต เพราะเป็นการลงโทษที่เรือทุกลำกลัว เนื่องจากการประมงในปัจจุบันเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจไปแล้ว”
ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองชาวประมงทุกประเภท กรมประมงจะเร่งตั้งกองทุนพัฒนาประมง เพื่อช่วยเหลือหรือชดเชยกรณีที่เกิดผลกระทบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างแนวทาง คาดว่าสิ้นเดือนนี้จะมีความก้าวหน้า ส่วนเรือประมงพื้นบ้าน 27,000 ลำ ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกใบอนุญาต ไม่ต้องกำหนดเขตจับปลา แต่เรือทุกลำต้องทำเครื่องหมายที่แสดงอัตลักษณ์ของเรือ ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการให้ได้ภายในปีนี้ โดยกรมประมงยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเรือมีจำนวนมากและส่วนใหญ่อยู่ท้องถิ่นห่างไกล.