นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในรายงานประเมินเสถียรภาพสถาบันการเงินไทยปี 2561 ว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (G3) และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลกและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
ขณะที่ปี 2562 แม้ว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และอาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคตได้ ซึ่งมี 2 เรื่อง คือ 1.ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่สถาบันการเงินแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ยอมรับว่าความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง เอื้อต่อการเก็งกำไร ซึ่ง ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อดูแลภาวะการแข่งขันไม่ให้มีการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์จนเกินพอดี ขณะที่ยังต้องติดตามภาวะจำนวนที่อยู่อาศัยค้างต่อไป
2.พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น อาจจะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ สะท้อนจากการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังไม่มีสัญญาณปรับลดลงชัดเจน ขณะที่หนี้และการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่วนนี้มีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ “สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินโลก มีความไม่แน่นอนสูงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยที่มีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลกค่อนข้างสูง ประกอบกับความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี ส่งผลให้ระบบการเงินไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้งภายในประเทศและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว”.