เพิ่มรายได้นักบินแก้สมองไหล

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เพิ่มรายได้นักบินแก้สมองไหล

Date Time: 14 พ.ย. 2561 05:25 น.

Summary

  • การบินไทยงัดกลยุทธ์เพิ่มรายได้แก้ปัญหานักบินสมองไหล เผย 2 ปีก่อนลาออกไป 130 คน ส่วนปีนี้คาด 50 คนและมีเข้าคิวออกต่อปีหน้า แห่ซบสายการบินโลว์คอสต์เพราะเงินเดือน-เบี้ยเลี้ยงสูงกว่าเยอะ

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

การบินไทยมึนลาออกไปซบโลว์คอสต์

การบินไทยงัดกลยุทธ์เพิ่มรายได้แก้ปัญหานักบินสมองไหล เผย 2 ปีก่อนลาออกไป 130 คน ส่วนปีนี้คาด 50 คนและมีเข้าคิวออกต่อปีหน้า แห่ซบสายการบินโลว์คอสต์เพราะเงินเดือน-เบี้ยเลี้ยงสูงกว่าเยอะ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะนี้นักบินของการบินไทยซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1,200 ราย กำลังทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง เพราะอัตราผลตอบแทนหรือรายได้ของนักบินการบินไทยต่ำกว่าสายการบินคู่แข่งอื่นๆมาก โดยในปี 2561 จะมีนักบินลาออกทั้งหมดประมาณ 50 คน และในปี 2562 มีแผนลาออกเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ลาออกไปทำงานที่สายการบินคู่แข่ง ซึ่งมีค่าตอบแทนสูงกว่า โดยเฉพาะในสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ที่ขยายเส้นทางบินและจัดซื้อเครื่องบินใหม่จำนวนมาก “นักบินการบินไทยทยอยลาออกต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปีนี้ รวม 8 ปีมีนักบินของการบินไทยลาออกไปแล้ว 400 ราย โดยช่วงปี 2559-2560 ลาออกมากถึง 130 คน ส่วนปีนี้คาดว่าจะลาออกราว 50 คน และปีหน้าก็เตรียมที่จะลาออกเพิ่มอีกเพราะค่า

ตอบแทนต่ำ รวมทั้งเงินระบบการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษหรือเบี้ยเลี้ยงบินต่างประเทศและค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ยังไม่เป็นธรรม ทำให้นักบินลาออกก่อนครบสัญญาว่าจ้าง โดยหลายคนยอมให้การบินไทยฟ้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งต้องจ่ายค่าปรับมากถึงคนละ 5-6 ล้านบาท ขณะที่นักบินอีกกลุ่มประมาณกว่า 100 ราย เลือกใช้วิธีการประนอมหนี้กับการบินไทย”

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะนี้นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือดีดีของการบินไทย ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้าพบหารือร่วมกับตัวแทนนักบิน เพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาการลาออกของนักบิน เบื้องต้นจะแก้ปัญหาด้วยการปรับระบบการจ่ายเบี้ยเลี้ยงบินต่างประเทศและค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ใหม่ทั้งหมด โดยจะนำระบบการจ่ายเงินแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบ pay per box (เพย์ เพอ บ็อกซ์) มาใช้ เพื่อให้นักบินได้รับรายได้ที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2562 และจะช่วยชะลอการลาออกของนักบิน “ระบบใหม่จะมีการนำเงินเบี้ยเลี้ยง

ในการบินเที่ยวบินต่างประเทศไม่ว่าจะบินใกล้หรือบินไกลและค่าล่วงเวลาของนักบิน ซึ่งกำหนดให้บินไม่เกิน 70 ชั่วโมงต่อเดือนของทุกคน มารวมเป็นก้อนเดียวกันก่อนในกล่อง จากนั้นจึงจะนำเงินจากกล่องไปจัดสรรจ่ายให้นักบินตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานจริง บินมากก็ได้มาก บินน้อยได้น้อย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ารายได้จะเป็นธรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมารายได้ของนักบินเหลื่อมล้ำกันมาก โดยคนที่บินไกลโซนยุโรปได้เบี้ยเลี้ยงแพงกว่าวันละ 4,000 บาท ส่วนบินในเอเชียวันละ 3,000 บาท และในประเทศวันละ 2,000 บาท ซึ่งระบบใหม่จะนำมารวมกันก่อนแล้วหารแบ่งภายหลัง”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับอัตราเงินเดือนนักบินของการบินไทยนั้นถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับสายการบินคู่แข่ง โดยอัตราเงินเดือนจะแยกออกจากเบี้ยเลี้ยงและค่าโอที ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ช่วยนักบิน เงินเดือนเริ่มต้นเดือนละ 100,000-150,000 บาท โดยมีการปรับเพิ่มขึ้นตามอายุงานที่เพิ่มขึ้น 2.นักบินทั่วไป เงินเดือนเริ่มต้นเดือนละ 250,000-350,000 บาท และนักบินบริหารรายได้จะสูงกว่า ส่วนอัตราเงินเดือนนักบินของสายการบินอื่นนั้นสูงกว่า

การบินไทย เช่น นกแอร์เดือนละ 379,000 บาท, ไทยสมายล์เดือนละ 400,000 บาท, แอร์เอเชีย เดือนละ 460,000 บาท, ไลอ้อนแอร์ เดือนละ 476,000 บาท และบางกอกแอร์เวย์ส เดือนละ 490,000 บาท

ด้านนายสุเมธ กล่าวว่า ในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับนักบินของการบินไทย เพื่อพูดคุยเรื่องการนำระบบ pay per box มาใช้แล้ว และเห็นตรงกันว่าเป็นระบบที่ดี โดยตนได้ขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาในแง่ของกฎหมายของรัฐวิสาหกิจให้รอบคอบด้วย หากมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ