ฟื้นโครงการ "เมดอินไทยแลนด์" เอกชนกระอักกีดกันสินค้าวอนใช้ "ของไทย"

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ฟื้นโครงการ "เมดอินไทยแลนด์" เอกชนกระอักกีดกันสินค้าวอนใช้ "ของไทย"

Date Time: 19 ต.ค. 2561 05:20 น.

Summary

  • เอกชนเสนอรัฐรื้อฟื้นโครงการ “เมดอินไทยแลนด์” หนุนความต้องการซื้อ สินค้าไทยไปทั่วโลก จี้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไทยมากขึ้น ก่อนผู้ประกอบการไทยเจ๋ง

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

เอกชนเสนอรัฐรื้อฟื้นโครงการ “เมดอินไทยแลนด์” หนุนความต้องการซื้อสินค้าไทยไปทั่วโลก จี้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไทยมากขึ้น ก่อนผู้ประกอบการไทยเจ๋ง ด้าน “สมคิด” ประชุมทูตพาณิชย์ ขอตัวเลขส่งออกปีนี้ 8% ให้ทูตพาณิชย์เร่งแผนรับมือจีนทรุด ส่งเอกชนซื้อเอาท์เล็ตในสหรัฐฯ เปิดขายสินค้าไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ย. ส.อ.ท.เตรียมเสนอมาตรการผลักดันโครงการเมดอินไทยแลนด์ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากระยะหลังการค้าระหว่างประเทศมีการแข่งขันรุนแรง มีมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมีจำนวนมาก และมีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้สินค้าต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดของไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการที่เตรียมนำเสนอ เช่น ขอให้ทูตพาณิชย์รวบรวมความต้องการสินค้าในแต่ละประเทศว่าต้องการสินค้ากลุ่มใดบ้าง เพื่อนำเสนอสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเจาะเข้าไปตามเป้าหมาย รวมทั้งให้ภาครัฐและเอกชนจัดงานเมดอินไทยแลนด์เพื่อแสดงสินค้าศักยภาพของไทย โดยเชิญผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศเข้าร่วม นอกจากนั้น ขอให้ภาครัฐเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพแห่งชาติ ช่วยยกระดับการผลิตของประเทศ

“ในอดีตยอมรับว่า สินค้าไทยยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมไทยปรับตัว มีความ แข็งแกร่ง ได้มาตรฐานระดับสากล ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าทั่วโลกเริ่มรุนแรงขึ้น มีมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ จึงอยากให้รัฐบาลฟื้นเรื่องเมดอินไทยแลนด์ ขึ้นมา ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการไทยจะอยู่ไม่ได้”

นายสุพันธุ์ กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งคือ ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่ค่อยซื้อสินค้าไทยมากนัก จึงต้องหาแนวทางการส่งเสริมให้ภาครัฐหันมาจัดซื้อสินค้าที่ผลิตในไทย ซึ่ง ล่าสุด ส.อ.ท.ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลางเพื่อให้คำแนะนำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐให้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิด ความคล่องตัว สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไทยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้าง โดยไม่ขัดข้อตกลงองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังมีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง ส.อ.ท.มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะดีในช่วงสั้นๆ ส่วนระยะยาวขึ้นกับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศจะสร้างความเชื่อมั่นได้มากน้อยเพียงใด เชื่อว่าปีหน้าการลงทุนเอกชนต่างประเทศทยอยเข้ามา โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน หากการเลือกตั้งไม่มีปัญหาความมั่นใจจะสูงขึ้น สภาพการลงทุนในประเทศน่าจะดีขึ้น”

วันเดียวกัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในระหว่างการมอบนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ใน 64 แห่งทั่วโลกว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอเป้าหมายมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยปี 62 ขยายตัวระดับ 8% มูลค่า 276,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้ขอให้ผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะในปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ดี มีเรื่องของสงครามการค้าเข้ามากระทบ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์แล้วว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว

“ทุกคนรู้ภัยของสงครามการค้าดี เพราะจีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่ และไทยค้าขายด้วย เมื่อจีนได้รับผลกระทบไทยก็กระทบด้วย ทูตพาณิชย์จะอยู่นิ่งไม่ได้ต้องเตรียมแผนล่วงหน้า โดยได้ขอให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ประเทศจีนจัดทำรายการสินค้าใดที่มีโอกาสและได้รับผลกระทบมาพิจารณาเพื่อผลักดันการส่งออก จะมองแค่ขายข้าว ยางพารา ทุเรียนไม่ได้ ยังมีสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่ม ส่วนตลาดสหรัฐฯ ได้ขอให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นโต้โผใหญ่รวบรวมเอกชนรายใหญ่ของไทย 10 กว่าราย เข้าไปซื้อกิจการค้าปลีกหรือเอาท์เล็ต เพื่อเป็นที่ขายสินค้าของไทย ในสหรัฐฯ เพราะไทยมีโอกาสที่จะส่งสินค้าไปทดแทนสินค้าจีน”

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั้ง 64 แห่ง จัดทำรายละเอียดว่ามีสินค้าใดที่ดูแลได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และสินค้าใดมีโอกาสนำมารวบรวมและทำแผนผลักดันการส่งออก โดยให้จัดทำมาแห่งละ 10 รายการ นำมาเสนอในอีก 2 สัปดาห์ ส่วนความกังวลของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่คาดว่าสหรัฐฯจะประกาศใช้มาตรการเซฟการ์ดขึ้นภาษีสินค้ากับทั่วโลกเดือน ก.พ.62 จะติดตามใกล้ชิดต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ