นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทราบผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม สำหรับการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเป้าหมายและกรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงมีความสวยงามและจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
“คจร.รับทราบผลการศึกษาการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาครอบคลุม 4 จังหวัด คือ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ระยะทางริมฝั่งยาว 67 กิโลเมตร แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 57 กิโลเมตร และอีก 3 จังหวัด 70 กิโลเมตร ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการนำร่องโปรเจกต์ 5 หรือ พี 5 บริเวณท่าน้ำนนท์ จากสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ ถึงสะพานพระราม 5 ระยะทางรวม 4.9 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 5,000 ล้านบาท โดยจะทำทางสัญจรให้จักรยานและคนเดินได้ทั้ง 2 ริมฝั่งเจ้าพระยา โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2-3 ปี”
ขณะเดียวกันที่ประชุม คจร.ยังมีมติเห็นชอบให้ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอีก 2.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3,779 ล้านบาท เป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน มีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง (สายหลัก) บริเวณสถานีรัชดา โดยมีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะเชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (สายหลัก) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานีและวิ่งต่อเนื่องถึงทะเลสาบเมืองทอง–ธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวม 3,379 ล้านบาท.