ยุค5จีทำคนตกงานอื้อซ่า “กสทช.” เตรียมรับผลกระทบทางสังคม

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยุค5จีทำคนตกงานอื้อซ่า “กสทช.” เตรียมรับผลกระทบทางสังคม

Date Time: 18 ต.ค. 2561 08:19 น.

Summary

  • “กสทช.”ส่งซิกประมูลคลื่น 5 จี จะไม่แพงเท่าคลื่น 900 หลัง “ดีแทค” ตัดสินใจเข้าร่วมประมูล ทำให้ทั้งผู้ให้ บริการมือถือทั้ง 3 ค่ายมีต้นทุนสูงเท่าเทียมกันแล้ว

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอรัฐบาลนำช้อปดีมีคืนมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 67

“กสทช.”ส่งซิกประมูลคลื่น 5 จี จะไม่แพงเท่าคลื่น 900 หลัง “ดีแทค” ตัดสินใจเข้าร่วมประมูล ทำให้ทั้งผู้ให้ บริการมือถือทั้ง 3 ค่ายมีต้นทุนสูงเท่าเทียมกันแล้ว แต่หวั่นบักโกรกจนไม่มีเงินลงทุน ด้าน “ฐากร” ย้ำจัดประมูล 5 จี ต้องทำควบคู่กับการลดผลกระทบทางสังคม หลังการศึกษาพบ 5 จียุค “เอไอ” จะทำให้คนตกงาน 10–30%

นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยระหว่างการเข้าร่วมประชุม Internatinal Workshop on 5G ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า การเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ของดีแทค ได้ทำให้ผู้ประกอบการ 3 รายในตลาด อันได้แก่ เอไอเอส ทรู และดีแทค มีต้นทุนประมูลคลื่นในระดับสูงเท่าเทียมกันแล้ว และนั่นเป็นสิ่งสำคัญต่อการพิจารณาเงื่อนไขการเปิดประมูลคลื่น 5 จี ในอนาคต ซึ่งหากตั้งราคาแพงเกินไป จะเป็นภาระของผู้ประกอบการเช่นเดียวกับคลื่น 900 และเป็นอุปสรรคให้ขยายเครือข่ายไม่ได้เต็มที่

“ที่เราเป็นห่วงคือในปี 2563 ผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่น 900 ไป จะครบกำหนดชำระเงินงวดที่เหลือจำนวนรวมกันมากกว่าแสนล้านบาท เราต้องคำนึงถึงฐานะการเงินของผู้เข้าประมูลด้วย”

นายประเสริฐ กล่าวว่า จะพยายามกำหนดให้ราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 5 จี ไม่สูงเท่าคลื่น 900 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินเหลือไปลงทุน เนื่องจากการลงทุนในเทคโนโลยี 5 จี จะต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อให้ได้บริการที่ก้าวล้ำ เช่น รถ ไร้คนขับ (self-driving car)

นอกจากนั้นเงื่อนไขการประมูลยังควรเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ค่ายมือถือด้วย โดยล่าสุด กสทช.ได้ตั้งคณะทำงาน 5 จี ขึ้นมาเพื่อวางกรอบกติกาในการประมูลไว้ เท่าที่จะทำได้ เพราะเชื่อว่าการประมูลจะไม่เกิดขึ้นในสมัยของ กสทช.ชุดนี้เป็นแน่

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กสทช.มีดำริจะทดสอบการประมูล 5 จี ในไทยภายในปีหน้า ส่วนคลื่นที่มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้มากที่สุดคือคลื่น 2400 เมกะเฮิรตซ์ และ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ตามลำดับ

ทางด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับ การประมูลคือ การเตรียมรองรับผลกระทบทางสังคมของ 5 จี ซึ่งทำให้คนเสี่ยงตกงานด้วย

“การศึกษาพบว่า 5 จี ที่จะมาพร้อมการ ทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ และ อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) จะทำให้คนตกงาน 10-30% เรื่องนี้ทั้งอเมริกาและยุโรปกำลังช่วยกันหาทางออกอยู่ ว่าจะช่วยเหลือแรงงานที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์, IoT หรือ AI อย่างไร โดยอาจหมายรวมถึงการจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานเหล่านั้น รวมถึงการเก็บภาษีหุ่นยนต์ด้วย”

อย่างไรก็ตาม 5 จี จะต้องเกิดขึ้นแน่ เป็นสิ่งซึ่งหยุดยั้งไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้แรงงานได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะคนในวัย 40-50-60 ปี ซึ่งปรับตัวได้ลำบากกว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งซึ่งรัฐบาลต้องพิจารณาและเตรียมพร้อม

นายฐากร กล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดประมูล 5 จีในไทย ซึ่งจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2563 นั้น จะต้องทำราคาให้ถูกลง เพราะเป็นเทรนด์ทั่วโลก เนื่องจาก 5 จี ใช้เงินลงทุนสูงและลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ใช่ลูกค้าทั่วไป จึงอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงไม่อาจตั้งราคาประมูลสูงได้ ภาครัฐต้องมองประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ มากกว่ารายได้จากการประมูลเพียงอย่างเดียว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ