ดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์!

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์!

Date Time: 9 ต.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • กับกรณีการตั้งเอเย่นต์คืนภาษีแวตให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง หรือ “ดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์” สานฝัน “ไทยแลนด์ช็อปปิ้งพาราไดซ์” หลังจากกรมสรรพากรได้แถลงผลการคัดเลือก

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

จ่อระอุแดดเรียกแขกให้งานเข้า!

กับกรณีการตั้งเอเย่นต์คืนภาษีแวตให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง หรือ “ดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์” สานฝัน “ไทยแลนด์ช็อปปิ้งพาราไดซ์” หลังจากกรมสรรพากรได้แถลงผลการคัดเลือก บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด ในเครือซีพีออลล์ให้ได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนคืนภาษีแวตแก่ นักท่องเที่ยวไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จากที่มีผู้ยื่นข้อเสนอ 3 ราย โดยระบุว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกรมสรรพากร ขณะอีก 2 รายที่ยื่นเข้ามาไม่ผ่าน

ทำเอาสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่หมายมั่นปั้นมือโครงการนี้มาแต่ไหนแต่ไรนั่งไม่ติด ถึงกับออกมา “ดับเครื่องชน” กรมสรรพากร โดย นาย วรวุฒิ อุ่นใจ ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยพร้อมผู้บริหารบริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่เกิดจากการลงขันของ 4 ห้างยักษ์ทั้งเซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอลล์ และสยามพิวรรธน์ ได้เปิดแถลงข่าวแสดงความ “กังขา” ต่อผลการพิจารณาที่ออกมา พร้อมยืนยันจะเดินหน้ายื่นเรื่องอุทธรณ์

โดยนายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่าโครงการ “ดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์” เป็นโครงการนำร่องที่มาจากข้อเรียกร้องของเอกชนเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเพิ่มการจับจ่ายช็อปปิ้งมากขึ้น และคืนเงินภาษีในสกุล

เงินบาทให้นักท่องเที่ยวสามารถนำเงินไปใช้จ่ายสินค้าอย่างอื่นได้ นอกจากนั้นจุดคืน VAT Refund ยังจะช่วยลดความแออัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สนามบินอีกด้วย พร้อมระบุว่าภาคเอกชนมีการหารือร่วมกับภาครัฐในการผลักดันโครงการนี้ผ่านคณะกรรมการประสานพลังประชารัฐมาโดยตลอด ก่อนจะได้ข้อสรุปในเรื่องการคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมือง

แต่ไม่รู้สรรพากรไปตั้งหลักเกณฑ์พิจารณากันอีท่าไหน ถึงไฟเขียวให้เคาน์เตอร์เซอร์วิส “ปาดหน้าเค้ก” ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนเพียงรายเดียวไปซะงั้น!

สมาคมค้าปลีกได้แสดงเอกสารที่ชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลในการคัดเลือกตัวแทนคืนแวตนักท่องเที่ยวในครั้งนี้ที่เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ 5-6 ข้อตามประกาศกรมสรรพากรจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผลการพิจารณาที่ออกมาขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้โดยสิ้นเชิง!

อย่างเรื่องการคมนาคมที่สะดวก ข้อเสนอของเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่กำหนดสถานที่คืนแวต 3 จุดที่เยาวราช สยาม (ลิโด้) และบางกอกไนท์บาร์ซ่าร์ เทียบกับของสมาคม 5 แห่งที่ยึดทำเลบนห้างหลัก ทั้งเซ็นทรัล ชิดลม เซ็นทรัลเวิลด์ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน และโรบินสัน สุขุมวิทเป็นหลัก ครอบคลุมเส้นทางเดินรถไฟฟ้าและมีปริมาณนักท่องเที่ยวหนาแน่น 90,000-150,000 คนต่อวันแล้ว ตัวร้านค้าในห้างเหล่านี้ล้วนจดทะเบียน ภ.พ.10 (แบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว) กับกรมสรรพากรอยู่แล้ว และมีการขอคืนภาษีของนักท่องเที่ยวที่ซื้อของจากร้านค้าเหล่านี้กว่า 9 แสนใบต่อปีเท่ากับ 60% ของรายการขอคืนภาษีอยู่แล้ว ผิดกับที่ตั้งร้านรวงโดยทั่วไปอันเป็นจุดให้บริการที่กรมคัดเลือกไป

ฟากฝั่งกรมสรรพากรก็ออกโรงตอบโต้ ยืนยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใด แต่เหตุที่ข้อเสนอของบริษัทร่วมทุนจากสมาคมค้าปลีกไม่ผ่านก็เพราะเสนอจุดให้บริการ “แวต รีฟันด์” ที่ว่าถึง 5 จุดผิดไปจากเงื่อนไขตามประกาศกรมสรรพากร และแม้จะให้โอกาสปรับปรุงหั่นจุดคืนภาษีที่ว่าลง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงปรับตกไปแต่ก็พร้อมจะเปิดให้อุทธรณ์

บทสรุปของการตั้งตัวแทนคืนแวตนักท่องเที่ยวที่ว่า จะมีเบื้องหน้า-เบื้องหลังหักเหลี่ยมโหดหรือไม่อย่างไรนั้น คงเป็นเรื่องที่คลังและกรมสรรพากรต้องเร่งเคลียร์หน้าเสื่อโดยเร็ว แต่โดยวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวเพื่อกรุยทางไปสู่ “ไทยแลนด์ช็อปปิ้งพาราไดซ์” กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในเมืองไทยมากขึ้นนั้น

เมื่อกรมสรรพากรบอกเองว่าไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ดังนั้น สิ่งที่กรมต้องตระหนักจุดคืนภาษีที่ว่าต้องอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้ไปควานหากันแบบ “งมเข็มในมหาสมุทร” ประเภทช็อปปิ้งกันบนห้างหรูเอ็มโพเรียม เซ็นทรัล เวิลด์กันอยู่ดีๆจะต้องให้นักท่องเที่ยวหอบข้าวของพะรุงพะรังเที่ยวโบกแท็กซี่หรือตุ๊กๆไปเร่หาเซเว่นในย่านเยาวราชหรือสยามสแควร์อันเป็นที่ตั้งจุดบริการแวต รีฟันด์

แค่คิดก็ขนหัวลุก “นี่ใช่ไทยแลนด์ช็อปปิ้งพาราไดซ์” หรือช็อปปิ้ง พาราควอตกันแน่!

ที่สำคัญการจำกัดให้เอกชนเพียง “รายเดียว” ได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็คงยากจะอรรถาธิบายต่อสังคมว่าไม่มี “วาระซ่อนเร้น” ไม่หนำซ้ำยังจ่อจะ “เรียกแขกให้งานเข้า” หาก มีใครตั้งข้อสังเกตในเรื่องการให้สิทธิ์ให้สัมปทานผูกขาดเพียงรายเดียวนี้อาจเข้าข่ายโครงการตาม “พ.ร.บ.พีพีพี ปี 2556” เอาได้ ดังนั้น การเปิดกว้างให้สิทธิ์แก่เอกชนทั่วไปร่วมดำเนินการได้ หรือแม้กระทั่งการกระจายจุดให้บริการจะเป็น 5 หรือ 10 จุด จึงน่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายในการผุดโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมากกว่า

ลำพังแค่ที่รัฐบาล “มัดตราสัง” วางยุทธศาสตร์ชาติ (ถอยหลัง) ไปตั้ง 20 ปี ก็ทำเอาประชาชนคนไทยอึดอัดหายใจไม่ทั่วท้องกันพออยู่แล้ว ยังจะมาพลิกช่องทางผูก “ปิ่นโต” เอากับทุกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จุดพลุกันขึ้นมาอีกหรือ!!!

ชูชาติ สว่างสาลี


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ