นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ครอบคลุมทุกภาคของประเทศแล้ว โดยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเกษตรกรที่มีความกังวล หากเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP แล้วต้องบังคับให้เป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) และจะทำให้วิถีชีวิตเกษตรกรเปลี่ยนไป จะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกปีต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งได้ชี้แจงว่า การเข้าร่วมไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตเกษตรกรเปลี่ยนไป เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกได้ แต่ไม่สามารถเอามาขายในเชิงพาณิชย์ หรือการขายแบบเป็นธุรกิจได้
“ใน UPOV 1991 ระบุไว้ชัดเจนว่า พันธุ์พืชใหม่ที่ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครอง ต้องเป็นพันธุ์ที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่พันธุ์พืชที่มีอยู่แล้ว หรือพันธุ์พืชพื้นเมือง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก เกษตรกรสามารถนำเมล็ดพันธุ์เก็บไว้ใช้ได้ ที่สำคัญใน CPTPP ยังเปิดทางให้เข้าร่วม UPOV 1991 หรือสมาชิกจะใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของตัวเองก็ได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกำลังทำเรื่องนี้อยู่ หรือหากเข้าร่วม UPOV ก็ยังมีระยะเวลาให้ปรับตัว อย่างสมาชิก CPTPP บางประเทศ มีเวลาปรับตัวนานถึง 4 ปี ไม่ใช่ต้องทำตามทันที”
ส่วนประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกรงกันว่า เมื่อเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แล้วต้องขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรให้นานขึ้น หรือจะทำให้ไทยเข้าถึงยาได้ยากขึ้นนั้น ประเด็นนี้ถูกนำออกจากความตกลงแล้ว ซึ่งไทยสามารถดูแลการเข้าถึงยาของประชาชนได้ตามปกติ ส่วนเรื่องสินค้าตัดแต่งทางพันธุกรรม (GMO) ในความตกลง CPTPP ระบุชัดเจนว่า ไม่ได้บังคับให้สมาชิกต้องนำเข้า และสมาชิกสามารถมีมาตรการดูแลได้ รวมถึงการมีมาตรการดูแลในเรื่องสินค้าใช้แล้ว.