ดีแทค ลงนามทำสัญญาระงับข้อพิพาท กสท ไฟเขียวให้เกี่ยวเสา-อุปกรณ์โทรคมนาคม ระยะเวลาขั้นต้น 8 ปี ใช้ดำเนินธุรกิจให้บริการลูกค้าต่อเนื่อง ไม่ให้ซิมดับ หลังหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz...
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เป็นข่าวดีสำหรับดีแทค เมื่อศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของผู้ถูกฟ้องคดีระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ลูกค้าดีแทคได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.นี้ โดยศาลมีคำสั่งคุ้มครองลูกค้าดีแทค ไปถึงวันที่ 15 ธ.ค. หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ล่าสุด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (14 ก.ย.) อนุมัติให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย และบริษัท เข้าทำสัญญาระงับข้อพิพาทและให้บริการเกี่ยวกับเสาโทรคมนาคม และสัญญาการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมกับบมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท) โดยคู่สัญญาได้เข้าลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถให้บริการกับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสิ้นสุดสัญญาให้ดำเนินการ และระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมที่มีอยู่กับ กสท
สำหรับสาระสำคัญของสัญญาระงับข้อพิพาทและให้บริการเกี่ยวกับเสาโทรคมนาคม บริษัทจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมที่บริษัทได้จัดหามาตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูลาร์ระหว่าง กสท และบริษัท (สัญญาให้ดำเนินการ) คืนให้แก่ กสท โดย กสท ตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมทั้งหมด และให้บริษัท และดีแทค ไตรเน็ต ใช้บริการพื้นที่เสาโทรคมนาคมเหล่านั้นเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ดีแทค ไตรเน็ต จะเป็นผู้ให้บริการพื้นที่และบำรุงรักษาเสาโทรคมนาคมดังกล่าวเป็นระยะเวลาขั้นต้น 8 ปี โดยมีสิทธิขอขยายระยะเวลาอีกคราวละ 3 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งดีแทค ไตรเน็ต จะจ่ายค่าบริการชำระล่วงหน้าจำนวน 3,266 ล้านบาท ณ วันลงนามในสัญญาและจะชำระค่าบริการเสาโทรคมนาคมรายเดือนให้กับ กสท รวมเป็นเงินจำนวนประมาณ 1,689 ล้านบาท/ปี
ส่วนสัญญาการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมนั้น ดีแทค ไตรเน็ต จะขอใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมจาก กสท ภายใต้สัญญาการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งมีระยะเวลา 8 ปี โดยมีระยะเวลาการใช้บริการขั้นต่ำของแต่ละอุปกรณ์แตกต่างกันในช่วง 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทและลักษณะการใช้งานของอุปกรณ์ และดีแทค ไตรเน็ต มีสิทธิในการขยายระยะเวลาได้อีกคราวละ 1 ปี
สำหรับจำนวนเงินสูงสุดที่ดีแทค ไตรเน็ต จะต้องจ่ายให้กับ กสท เป็นค่าตอบแทนการใช้ในส่วนของระบบสื่อนำสัญญาณและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นเงินประมาณ 810 ล้านบาทต่อปี และอุปกรณ์โทรคมนาคมภายใต้สัญญาให้ดำเนินการ คิดเป็นเงินประมาณ 226-790 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวภายหลังสัญญาให้ดำเนินการสิ้นสุดลง
ด้านนางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า เป็นความสำเร็จอย่างสูงที่ข้อตกลงทั้ง 2 สัญญา ระหว่างดีแทค และกสท ได้ร่วมลงนามก่อนหมดสัมปทาน ต่อไปนี้ทั้งสองฝ่ายจะเป็นพันธมิตรร่วมกันในเชิงกลยุทธ์เสริมสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยต่อไป โดยข้อตกลงทั้ง 2 สัญญา ยังก่อให้เกิดความชัดเจนในการประกอบธุรกิจของทั้งสองฝ่ายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หมดความเสี่ยงและทำให้ใช้งานเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง ดีแทค และ กสท พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการเป็นพันธมิตรดูแลโครงข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมสู่อนาคต และลูกค้าดีแทคสามารถมั่นใจในการใช้งานหลังหมดสัมปทาน ซึ่งมิตรภาพและความร่วมมือดังกล่าวได้ส่งผลประโยชน์ต่อกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน
อย่างไรก็ตาม จากข้อตกลงระงับข้อพิพาท ทางดีแทคจะทำการโอนเสาโทรคมนาคมที่สร้างไว้ระหว่างสัมปทานให้กับ กสท และกสท จะให้ดีแทค ไตรเน็ต ใช้บริการเสาโทรคมนาคมดังกล่าวจำนวน 8,815 แห่งทั่วประเทศ โดยดีแทค ไตรเน็ต จะชำระค่าขอใช้เสาโทรคมนาคมล่วงหน้า ณ วันลงนามในสัญญาให้กับ กสท เป็นจำนวนรวมประมาณ 3,200 ล้านบาท และจะชำระค่าบริการทั้ง 2 สัญญามูลค่ารวม 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยสัญญามีระยะยาวขั้นต้น 8 ปี และสามารถต่ออายุได้
ด้านพันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของกสท กล่าวว่า การลงนามในสัญญาในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานคลื่นความถี่ที่ร่วมธุรกิจกันมาอย่างยาวนาน และจะได้พลิกสู่บทบาทใหม่ไปสู่ความร่วมมือที่เป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ต่อเนื่อง และยังทำให้เสาโทรคมนาคมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีความสำคัญของประเทศและอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมภายใต้สัญญาสัมปทานซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ ให้สามารถนำมาใช้โดยเกิดประโยชน์ทั้งในการด้านการให้บริการแก่ประชาชนและการสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาองค์กรและประเทศในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของชาติ
สำหรับข้อตกลงในสัญญา กสท จะให้ดีแทค ไตรเน็ต เป็นผู้ดูแลรักษาเสาโทรคมนาคมทั้งหมด เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการติดตั้ง จึงมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการสื่อสาร และยังมีประสบการณ์โดยตรงในการดูแลเสาโทรคมนาคมดังกล่าวมามากกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอดภาพรวมของธุรกิจและสร้างรายได้ใหม่ให้กับ กสท ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลและโทรคมนาคมชั้นนำของชาติ ประกอบกิจการโทรคมนาคมและให้บริการทางด้านโทรคมนาคมหลากหลายรูปแบบ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งการให้บริการเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมในครั้งนี้ จึงเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายร่วมกันอย่างลงตัว รวมทั้งประชาชนและประเทศชาติ.