“พาที สารสิน” อดีตซีอีโอ นกแอร์ เปิดใจยืนยันไม่ได้เป็นนอมินี ไม่ถือหุ้นแทนใครในนกสกู๊ต ย้ำออกจากนกแอร์แล้ว และไม่เกี่ยวบริหารมานาน เป็นข่าวมากจนถูกพ่อแม่ต่อว่าตลอด
นายพาที สารสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ สายการบินนกแอร์ ได้ออกมาปฏิเสธถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเป็นคนถือหุ้นแทน ที่เรียกว่านอมินี (nominee) ในการจัดตั้งสายการบินนกสกู๊ตว่า ไม่เป็นความจริง ไม่เคยเป็นนอมินีใครทั้งสิ้น และในช่วงที่ผ่านมาได้ลาออกจากนกแอร์ ไม่เกี่ยวข้องกับสายการบินนกแอร์แล้วกว่า 1 ปี ส่วนหุ้นที่มีอยู่ ยืนยันว่าเป็นการถือหุ้นในนามส่วนตัว ไม่ได้เป็นตัวแทนใครทั้งสิ้น
สำหรับขั้นตอนต่อไปทางนกแอร์ก็ต้องมาซื้อหุ้นในส่วนของตนไป ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนั้นก็จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนกแอร์อย่างเป็นทางการในทุกๆ ด้าน
“ในช่วงที่เป็นข่าว ถูกพ่อแม่ต่อว่ามาตลอด ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นข่าว และหลังจากนี้ผมขอเลือกเดินทางในชีวิตใหม่ด้วยตัวเอง ซึ่งจะไปทำธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการบิน ในวันที่ 20 กันยายนนี้ ขอให้คนที่รักผมไปร่วมยินดีกับผมด้วย” นายพาทีกล่าว
นายพาที ที่กำลังจะอายุ 57 ปีในเดือนหน้า เป็นบุตรชายของนายอาสา สารสิน และท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน ถือเป็นผู้บริหารที่มีสีสัน มีจุดเด่นในการทำตลาดสายการบินนกแอร์ ด้วยการใช้ความสามารถของตนเองในการสร้างแบรนด์ เป็นพรีเซนเตอร์ และสื่อสารกับลูกค้าทางโซเชียลมีเดีย ในแบบที่เรียกว่าซีอีโอแบรนดิ้งอย่างเต็มที่ จนนกแอร์เป็นที่รู้จักในช่วงต้น ๆ อย่างไรก็ตามช่วงหลังนกแอร์ขาดทุน และมีหนี้เพิ่มขึ้น นายพาทีได้ลาออกจากนกแอร์เมื่อปลายปีที่แล้ว
เมื่อคืนนี้ นายพาทียังได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ Patee Sarasin ว่า "ข่าวนกแอร์ทำให้สับสนมากที่เอาเราเข้าไปเกี่ยวพันนะครับ ผมได้ออกมาจากนกแอร์ และในการตัดสินใจอะไรทั้งสิ้นในการบริหาร ไม่เคยได้บอกว่าเป็น nominee เพียงแต่บอกว่าไม่ได้บริหารมานานแล้ว อย่าเอาชื่อเราไปยุ่งเกี่ยวด้วยเท่านั้นเอง" นอกจากนั้นยังทวีตอีกข้อความว่า "สั้นๆ คือ ไม่ได้เป็น Nominee และไม่ได้มีส่วนรวมในการบริหารใดๆ ทั้งสิ้น รับทราบทั่วกันนะครับ”
ทางด้าน นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนบริษัทเบื้องต้นของสายการบินนกสกู๊ตไม่พบความผิดปกติว่ามีนายพาทีถือหุ้นในลักษณะเป็นนอมินี หรือตัวแทนต่างชาติแต่อย่างใด
ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจสายการบิน ที่ขอใบอนุญาตในไทยนั้น ต้องมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51% ของสัดส่วนหุ้นทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง