‘นกแอร์’ โคม่า! มี 3 ปมฉุดมาถึงจุดนี้

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

‘นกแอร์’ โคม่า! มี 3 ปมฉุดมาถึงจุดนี้

Date Time: 10 ก.ย. 2561 18:14 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ปัญหาสายการบินนกแอร์กำลังวิกฤติหนัก ขาดทุนสะสม หนี้พุ่ง รัฐจับตาใกล้ชิด หวั่นเงินสดไม่พอหมุน ขาดสภาพคล่อง กระทบมาตรฐานบริการ

Latest


ปัญหาสายการบินนกแอร์กำลังวิกฤติหนัก ขาดทุนสะสม หนี้พุ่ง รัฐจับตาใกล้ชิด หวั่นเงินสดไม่พอหมุน ขาดสภาพคล่อง กระทบมาตรฐานบริการ

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กพท.กำลังจับตาสถานการณ์สายการบินนกแอร์อย่างใกล้ชิด หลังมีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

“ถ้าแอร์ไลน์มีปัญหากระแสเงินสด อาจมีการตัดค่าใช้จ่าย และมีปัญหามาตรฐานบริการ จึงต้องจับตา เพราะนกแอร์เป็นสายการบินที่มีผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับ 2 หากมีปัญหาอะไรขึ้นมา ก็จะกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมาก” นายจุฬากล่าว

ทางด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บล.เคจีไอ วิเคราะห์ว่า ปัญหาของนกแอร์สะสมมานานจนทำให้เกิดวิกฤติ และแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนหุ้นนกแอร์ที่ราคาตกลงมาก จากที่เคยสูงกว่า 13 บาทในปี 2557 วันนี้เหลือเพียง 2.34 บาท 

สาเหตุที่ทำให้นกแอร์วิกฤติ มาจากปัญหาหลัก 3 เรื่อง นอกเหนือจากปัญหาเรื่องเครื่องบินเสีย ระบบเช็คอินล่ม และการตัดสินใจแข่งตัดราคาตั๋ว ขณะที่คุมต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่ได้มากนัก เป็นต้น

ปัญหาหาหลักเรื่องแรกคือ ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมีต้นทุนการบริหารสูง จากค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน เพราะมีการดึงตัวในช่วงที่การแข่งขันธุรกิจสายการบินรุนแรง หลังจากมีไทยแอร์เอเชียรุกตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์​ แต่ช่วงนั้นนกแอร์ยังประคองตัวได้ เพราะมีการบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สนับสนุนอุปกรณ์การให้บริการต่างๆ ทั้งบริการภาคพื้น และเครื่องบิน

ปัญหาที่สองคือ ฝ่ายบริหารมีปัญหากับนักบิน จนมีการประท้วงใหญ่เมื่อวันวาเลนไทน์ ก.พ. 2559 ผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก กระทบต่อความเชื่อมั่นในบริการ จนปีนั้นนกแอร์ขาดทุนสูงสุดถึง 2,795 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องมาตลอด

“ปัญหานี้รุนแรงมาก ซึ่งก่อนประท้วงหยุดบินในเดือน ก.พ.2559 นั้น มีการปิดโรงแรมแห่งหนึ่งย่านวิภาวดี มีนายพาที สารสิน อดีตซีอีโอ พยายามเคลียร์กับกลุ่มนักบินแล้ว แต่ไม่สำเร็จ” แหล่งข่าวจากนกแอร์ระบุ

สำหรับปัญหาที่สามนั้น เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นเอง ที่อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างการบินไทยไม่มีเงินพอจะลงทุนเพิ่ม เพราะล่าสุดการบินไทยก็ยังขาดทุนอยู่ ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ “จุฬางกูร” ที่ถือหุ้นรวม 52.35% ก็ยังไม่อนุมัติแผนของทีมผู้บริหารนกแอร์ใหม่ ที่มีนายปิยะ ยอดมณี มาเป็นซีอีโอคนใหม่แทนนายพาที จนล่าสุดนายปิยะเพิ่งลาออกไป

ทางออกของนกแอร์ในเวลานี้ คือต้องมีเงินทุนเพิ่ม หรือมีผู้ร่วมทุนใหม่ โดยขึ้นอยู่กับทีมบริหารที่เหลืออยู่ ว่าจะสามารถทำแผนธุรกิจให้เห็นว่านกแอร์มีโอกาสฟื้นตัวหรือไม่


สำหรับตัวเลขที่สะท้อนว่านกแอร์วิกฤตินั้น ต้องย้อนไปปี 2558 นกแอร์เคยมีส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินในประเทศถึง 24.8% ใกล้เคียงกับเบอร์ 1 ของตลาดอย่างไทยแอร์เอเชียที่มีส่วนแบ่ง 28.5% ส่วนเบอร์ 3 ของตลาดอย่างไทยไลอ้อนแอร์อยู่ห่างออกไป มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 13.9%

ผ่านไปแค่ 2 ปีกว่า ณ เดือน พ.ค.ปี 2561 นกแอร์เหลือส่วนแบ่ง 18.8% ส่วนไทยแอร์เอเชีย ทิ้งห่างไปเป็น 33.1% โดยมีไทยไลอ้อนแอร์จี้มาติดๆ ที่ส่วนแบ่ง 17%

ส่วนแบ่งตลาด หรือส่วนแบ่งลูกค้านั้นสะท้อนว่า นกแอร์บาดเจ็บสาหัส และสู้คู่แข่งไม่ได้ แม้จะมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 แต่มีต้นทุนสูง เพราะเลือกเล่นเกมสงครามราคา แข่งตัดราคาตั๋วจนขาดทุน ตัวเลขผลประกอบการจึงบอกอาการโคม่า ตั้งแต่ปี 2557 ขาดทุนมาเรื่อยๆ จน ณ ไตรมาส 2 ปีนี้ ขาดทุนสะสมแล้วกว่า 4,400 ล้านบาท และหนี้สินมีสูงถึง 6,623 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2556 นกแอร์มีหนี้สินแค่ 1,728 ล้านบาท มีรายได้ 11,314 ล้านบาท และกำไร 1,066 ล้านบาท

สำหรับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการนกแอร์นั้น ในปี 2560 มี 8.87 ล้านคน ส่วน 6 เดือนแรกของปีนี้มี 4.72 ล้านคน มีเครื่องบินให้บริการ 28 ลำ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ