“ดีแทค”คาใจกวนสัญญาณมือถือ แนะรัฐแยกคลื่นรถไฟความเร็วสูงใช้ 450 เมกะเฮิรตซ์

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ดีแทค”คาใจกวนสัญญาณมือถือ แนะรัฐแยกคลื่นรถไฟความเร็วสูงใช้ 450 เมกะเฮิรตซ์

Date Time: 10 ส.ค. 2561 05:15 น.

Summary

  • ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว ดีแทคไม่ได้เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบ 5 เมกะเฮิรตซ์ ...

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว ดีแทคไม่ได้เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบ 5 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนระบบป้องกันระบบคลื่นรบกวนระหว่างกิจการรถไฟกับผู้ให้บริการมือถือ ที่ผู้ชนะประมูลต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด

“ดีแทคอยากจะยื่นข้อเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องแผนการใช้คลื่นความถี่ใหม่ โดยเสนอให้นำคลื่น 450 เมกะเฮิรตซ์ ที่ไม่มีการใช้งาน มาใช้กิจการรถไฟความเร็วสูงแทนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะขณะนี้ประเทศจีนอยู่ระหว่างการทดสอบกับระบบกิจการรถไฟความเร็วสูงด้วย เมื่อประเทศไทยจะนำรถไฟจากจีนมาใช้ ก็ควรใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่นเดียวกัน”

นายราจีฟ กล่าวต่อว่า สำหรับการขอรับสิทธิ์การเยียวยาการใช้คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานต่อไปจนกว่าจะมีการประมูลเกิดขึ้นนั้น เชื่อว่าจะได้รับสิทธิ์เยียวยาจาก กสทช.เพราะยังมีผู้ใช้บริการอยู่ แต่ดีแทคไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ แต่หากไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยา ดีแทคก็ต้องมีมาตรการดำเนินการต่อไป ทั้งเจรจาเชื่อมต่อโครงข่าย (โรมมิ่ง) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ไว้ แต่ลูกค้าของดีแทคเป็นผู้ใช้บริการ 3 จี บนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ขณะที่เอ็มโอยู กับเอไอเอสนั้น เป็นการโรมมิ่งให้กับลูกค้า 2 จี หรือต้องไป เจรจากับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เพราะมีคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการ 3 จีและ 4 จี อยู่ในขณะนี้

“ยอมรับว่าการเจรจากับแคทไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแคทมีทรูเป็นพันธมิตรใช้คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ร่วมกันอยู่ การเจรจากับ กสทช.เพื่อรับสิทธิ์เยียวยาจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันลูกค้าที่ใช้งานราว 400,000 ราย”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ