ชงรัฐแบ่งงบซื้อสินค้าไทย ดัน “เมดอินไทยแลนด์” วาระแห่งชาติ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชงรัฐแบ่งงบซื้อสินค้าไทย ดัน “เมดอินไทยแลนด์” วาระแห่งชาติ

Date Time: 30 ก.ค. 2561 06:15 น.

Summary

  • ส.อ.ท.ดันสุดลิ่ม โครงการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้สินค้าไทย “เมดอินไทยแลนด์” หวังดันเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องไม่ขัดกับ ...

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

สุพันธุ์ มงคลสุธี

ส.อ.ท.ดันสุดลิ่ม โครงการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้สินค้าไทย “เมดอินไทยแลนด์” หวังดันเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องไม่ขัดกับระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO) สรุปแนวทางส่งเสริมเสนอรัฐบาล ส.ค.นี้ หวังรัฐใช้งบฯรายจ่าย 2.9 ล้านล้านที่กว่าครึ่งเป็นงบจัดซื้ออุปกรณ์ ครุภัณฑ์ต่างๆ อุดหนุนสินค้าไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้มอบให้ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นเลิศ (IEC) ของ ส.อ.ท. ทำการศึกษามาตรการและแนวทางเพื่อการส่งเสริมการใช้สินค้าไทย หรือเมด อิน ไทยแลนด์ เพื่อเป็นวาระแห่งชาติที่จะไม่ขัดกับระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะสรุปภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาและให้การสนับสนุนต่อไป เนื่องจากปัจจุบันการค้าโลกเปลี่ยนไปมีสงครามการค้าเกิดขึ้นที่อาจทำให้สินค้าต่างชาติไหลบ่าเข้าไทย ซึ่งสินค้าที่ผลิตได้จากประเทศไทย ส่วนใหญ่มีมาตรฐานไทยควรสนับสนุนการใช้ในประเทศเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับเศรษฐกิจไทย “แม้ว่าจะมี พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อกำหนดส่งเสริมการใช้สินค้าไทยอยู่แล้ว เช่น หากมีผู้ยื่นเสนอขายสินค้าให้กับรัฐที่เป็นของไทยเกิน 3 ราย หากมีราคาสูงกว่าต่างชาติไม่เกิน 10% และมีมาตรฐานตรงตามที่กำหนดจะต้องใช้สินค้าไทย แต่ที่ผ่านมามีการดำเนินการตามแนวทางนี้น้อยมาก ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวด และออกมาตรการใหม่ๆส่งเสริมการใช้สินค้าไทยที่ไม่ขัดกับกติกาของ WTO”

สำหรับระยะแรก อาจจัดทำซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน พร้อมจัดทำเรตติ้งของบริษัทผู้ผลิตสินค้าของคนไทย ว่าได้รับความนิยมมากเพียงใด และมีการรีวิวสินค้าจากผู้ใช้ เพื่อให้หน่วยงานราชการและเอกชนเข้ามาเลือกซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน และรับรู้รายละเอียดต่างๆ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ขายสินค้าของคนไทยเข้าถึงผู้ซื้อทั้งภาครัฐและเอกชนได้มากขึ้น

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าไทย เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเติบโต และพัฒนาสินค้าได้เร็วขึ้น เพราะขณะนี้รัฐบาลมีงบประประมาณรายจ่าย 2.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการจัดซื้ออุปกรณ์ ครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งหากเม็ดเงินจำนวนนี้ตกไปอยู่กับผู้ประกอบการคนไทย ก็จะช่วยพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมได้มาก โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่ส่วนใหญ่ไม่เคยผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากมีผู้ประกอบการไทยเข้ามาผลิตในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็ควรให้การสนับสนุนเต็มที่

ที่ผ่านมาประเทศชั้นนำที่มีการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว เช่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น รัฐบาลแต่ละประเทศมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคราชการใช้สินค้าในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ มีเม็ดเงินเข้าไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็ว เหมือนกับการผลิตรถไฟฟ้าของจีน ที่ในขั้นแรกได้นำเทคโนโลยีของเยอรมันเข้ามาเป็นต้นแบบในการผลิต ภาครัฐก็ให้การสนับสนุน ทำให้โครงการรถไฟฟ้าทั้งประเทศล้วนแต่ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตในจีน จนสามารถต่อยอดเทคโนโลยีของตัวเอง จนทำให้ปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกรถไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ส่วนในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ภาครัฐและเอกชนก็ช่วยซื้อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศในระยะแรก แม้ว่าคุณภาพจะสู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่ปัจจุบันค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ประเทศนี้ก็มีความแข็งแกร่งเป็นผู้ส่งออกชั้นนำของโลก

“รัฐบาลในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ควรเข้ามาช่วยซื้อสินค้าของคนไทยให้เป็นแบบอย่างก่อน เพื่อช่วยประคองธุรกิจคนไทย โดยเฉพาะการผลิตสินค้าใหม่ๆ ซึ่งหากรัฐบาลเริ่มใช้ ภาคประชาชนก็จะค่อยๆซื้อตามมากขึ้น โดยมีแผนที่จะร่วมกับภาครัฐและทุกภาคส่วน รณรงค์ให้เอกชนและประชาชนหันมาใช้สินค้าไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันสินค้าไทยมีมาตรฐานสูงคุณภาพดี เห็นได้จากผู้ซื้อในอาเซียน ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นสินค้าไทย”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ