‘สมคิด’ ไม่ปลื้ม!นักลงทุนเกาหลี

Business & Marketing

Marketing

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

Tag

‘สมคิด’ ไม่ปลื้ม!นักลงทุนเกาหลี

Date Time: 13 ก.ค. 2561 08:42 น.

Video

เปิดเคล็ดลับ ลดหย่อนภาษี ถือสั้น กำไรพุ่ง ต้องซื้อกองทุนฯ แบบไหน ? | Money Issue

Summary

  • “สมคิด” ลั่นรับไม่ได้มูลค่าลงทุนเกาหลีใต้น้อยกว่าเวียดนาม 10 เท่า เร่งชวนบริษัทเกาหลีใต้ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในไทย พร้อมลงทุนผลิตสินค้าขายทั่วโลก ชี้หากเป็นพันธมิตรกับไทย

Latest


ลั่นใช้เงินแค่ขี้มดน้อยกว่าเวียดนาม 10 เท่า

“สมคิด” ลั่นรับไม่ได้มูลค่าลงทุนเกาหลีใต้น้อยกว่าเวียดนาม 10 เท่า เร่งชวนบริษัทเกาหลีใต้ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในไทย พร้อมลงทุนผลิตสินค้าขายทั่วโลก ชี้หากเป็นพันธมิตรกับไทยมีแต่ได้กับได้ เพราะไทยคือประตูเชื่อมซีแอลเอ็มวีที ที่มีจำนวนประชากรมหาศาล และอีก 5 ปีจำนวนคนชั้นกลางแตะ 100 ล้านคน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเกาหลีใต้” ว่า เกาหลีใต้มีโครงการพัฒนา New Southern policy ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับทั้งอาเซียนและเอเชียใต้ เห็นว่าบริเวณภูมิภาคแถบนี้สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ได้ เป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญในการผลิตของเกาหลีใต้ในอนาคตข้างหน้า และยังเป็นตลาดการค้าที่มหาศาลด้วย ดังนั้น จึงไม่มีที่ใดเหมาะสมเท่าประเทศไทย
ที่บริษัทในเกาหลีใต้จะมาตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในไทย รวมทั้งลงทุนผลิตสินค้าแล้วส่งไปขายทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไทยประกาศให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษสำหรับการมาตั้งสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคในไทยไปแล้ว มีบริษัทมาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยกว่า 100 แห่ง ทั้งญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย ยุโรป แต่ไม่มีบริษัทจากเกาหลีใต้

“เม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศโดยตรง (เอฟดีไอ) ของเกาหลีใต้ที่ไปลงทุนในโลกทั้งหมด มีสัดส่วนมาลงทุนในอาเซียนประมาณ 25% ในจำนวนนี้มี 3% มาลงทุนในไทย อยู่ในอันดับที่ 7-8 ของอาเซียน ที่เกาหลีใต้มาลงทุน หรือไม่เกิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา แต่ไปลงทุนในประเทศอื่นเต็มไปหมด ลงทุนในเวียดนามมากกว่าไทย 10 เท่า ตัวเลขตรงนี้ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของไทยรับไม่ได้ ส่วนทางการค้าประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของเกาหลีใต้ เป็นสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา จึงต้องพยายามขยายขอบเขตของสินค้าออกไป ซึ่งไทยพยายามจะเป็นมหานครของผลไม้ คนเกาหลีใต้ชอบรับประทานผลไม้ จะต้องยกผลไม้ไปให้คนเกาหลีใต้รับประทานให้ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ต้องอำนวยความสะดวกด้านอี-คอมเมิร์ซให้มากที่สุด”

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ จึงต้องการให้มาเป็นหุ้นส่วนกัน และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศของไทย ซึ่งในโลกนี้ไม่ค่อยมีใครเหนือกว่าเกาหลีใต้ในเรื่องดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงด้านการปฏิรูปการศึกษา

ซึ่งเกาหลีใต้มีประสบการณ์ปฏิรูปการศึกษามาไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง จึงสามารถให้คำแนะนำกับไทยได้ ขณะที่ไทยต้องการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งคนไทยมีพรสวรรค์ด้านนี้ ต้องการให้มาช่วยให้คำแนะนำการจัดระบบ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ ทางเกาหลีใต้มีความเข้มแข็งมากกว่าไทย

“เกาหลีใต้ไม่สามารถอยู่เฉพาะคาบสมุทรเกาหลีได้ ต้องขยายไปสู่โลก ไม่เช่นนั้นความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจะไม่เปล่งประกายได้เต็มที่ ประเทศไทยจะเป็นมิตรประเทศ ที่เป็นประตูสู่ซีแอลเอ็มวีที คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย รวมจำนวนประชากรมากกว่า 200 ล้านคน มีแรงงานมหาศาล และในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีคนชั้นกลางขึ้นมาประมาณ 100 ล้านคน และซีแอลเอ็มวีทียังเป็นกึ่งกลางหรือหัวใจของอาเซียน ฉะนั้นหากดีกับไทย คบกับไทย เป็นเพื่อนกับไทย มีแต่จะเป็นประโยชน์”

นายสมคิด กล่าวว่า ไทยได้ประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ปัจจุบันมีโครงการที่ไปขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีแล้ว 740 โครงการ มูลค่าประมาณ 700,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% ของการลงทุนทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการอีอีซีตอบโจทย์ในอนาคต และ พ.ร.บ.อีอีซี ได้ออกมาแล้วเป็นการรับประกันได้ว่า การลงทุนในอีอีซี ไม่ต้องกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นักลงทุนเกาหลีใต้ยังมาลงทุนในประเทศไทยน้อยมาก รวมถึงการทำการค้าระหว่างกันด้วย

จึงต้องการให้มีความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 12% จากปี 2559 ในอนาคตต้องการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันขึ้นเป็น 2 เท่า.


Author

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

ไทยรัฐฉบับพิมพ์