พ่อค้า-เกษตรกรแห่ซื้อเมล็ดพันธ์ุ หว่ันผลผลิตทะลักทำรัฐงานเข้า
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวดีขึ้นตันละ 17,000 บาท ส่งผลให้ข้าวหอมปทุมปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าตันละ 11,000-12,000 บาท และเมื่อใกล้เข้าถึงฤดูเพาะปลูกเดือน พ.ค. มีเอกชนผู้จำหน่ายข้าวถุงทั้งเพื่อบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก และเกษตรกรจำนวนหลายราย ติดต่อมาทางกรมการข้าวเพื่อขอซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก โดยให้เหตุผลว่าเตรียมขยายพื้นที่เพาะปลูก เพราะผู้ซื้อในต่างประเทศสนใจข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ผลผลิตข้าวหอมมะลิทั้งปีของไทยมีประมาณ 8 ล้านตัน หรือมีพื้นที่ปลูกประมาณ 23 ล้านไร่ กรมการข้าวได้เตรียมเมล็ดข้าวปลูกไว้ในปี 2561 ปริมาณ 80,000 ตัน รวมข้าวทุกชนิด ซึ่งน่าจะเพียงพอ เพราะกระทรวงเกษตรฯไม่ได้มีแผนที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูก ยังคงพื้นที่เพาะปลูกตามแผนข้าวทั่วประเทศ แต่กรณีเอกชนต้องการขยายพื้นที่ปลูกหอมมะลิเพิ่มขึ้น เพราะอ้างว่าต่างชาติต้องการจำนวนมาก เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะหากตัดสินใจเพิ่มพื้นที่ แต่ต่างชาติลดปริมาณการซื้อจะทำให้ราคาปรับตัวลดลง ชาวนาก็จะเดือดร้อนอีก
“กระแสราคาข้าวหอมมะลิและข้าวหอมปทุมปีนี้ปรับตัวดีขึ้น มีหลายส่วนกังวลว่าชาวนาจะนำพันธุ์ข้าวไปขายในท้องตลาดหมดนั้น เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะราคาข้าวหอมมะลิราคาอยู่ที่ตันละ 17,000 บาท หรือกิโลกรัม (กก.) ละ 17 บาท แต่เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิอยู่ที่ราคา กก.ละ 22-24 บาท ซึ่งไม่น่าจะทำให้ชาวนามีแรงจูงใจขายเมล็ดพันธุ์ไปหมด จนทำให้ขาดแคลน อีกอย่างเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวสำรองไว้ 80,000 ตันเชื่อว่าน่าจะเพียงพอ โดยกรมการข้าวขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกในช่วงนี้แล้วแม้ราคาจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม และถ้าหากมีการเพิ่มพื้นที่จะต้องดูให้รอบคอบเพราะอาจส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวลดลงก็ได้”.