นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการ ประชุมระดมสมองจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีนว่า ที่ประชุมได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) จำนวน 8 แห่งมาหารือเพื่อขอให้แข่งขันกันยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งและโครงสร้างขององค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารทางการเงิน และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งเบื้องต้นมองว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะจัดตั้งในรูปแบบเป็นบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะสามารถระดมทุนได้เองช่วยลดภาระของภาครัฐ และยังบริหารงานได้คล่องตัวมากขึ้น โดยหน่วยงานดังกล่าว จะต้องเป็นหน่วยงานพิเศษที่ตั้งขึ้นใหม่ทำงานแยกอิสระจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่ภาครัฐยังคง เป็นเจ้าของและสามารถควบคุมองค์กรได้ โดยอาจจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาฯต้องกลับไปพิจารณารูปแบบองค์กรที่จัดตั้งขึ้นทั้งเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นภาครัฐและเอกชน วงเงินทุนจดทะเบียนและเป้าหมายทางการเงิน โดยจะต้องยื่นข้อเสนอกลับมาภายใน 1 เดือน จากนั้นจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีตนเป็นประธานและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะสามารถจัดตั้งองค์กรได้ภายในปีนี้แน่นอน สำหรับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ตอบรับจะร่วมยื่นข้อเสนอมีทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารยูโอบี,ฟินันซ่า, อาร์เอชบี, เพลินจิตแคปปิตอล, อวานานการ์ แคปปิตอล และไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สเอฟเอเอส
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า การจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงเป็นไปตามมติ ครม.วันที่ 11 ก.ค.2560 ที่มอบให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางจัดตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของ รฟท. เพื่อกำกับดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงให้มีประสิทธิภาพ.