สแกนคมนาคม 4.0 มุ่งสู่ เทคโนโลยีใกล้แค่เอื้อม ภาครัฐพร้อมหรือยัง!

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สแกนคมนาคม 4.0 มุ่งสู่ เทคโนโลยีใกล้แค่เอื้อม ภาครัฐพร้อมหรือยัง!

Date Time: 3 ก.พ. 2561 20:10 น.

Video

ไทยฝันเป็น “ฮับการเงิน” แต่จะไปให้ถึงยังไงดี ? | Digital Frontiers

Summary

  • การเปิดประตูไทยแลนด์ 4.0 เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงโลก โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ นวัตกรรมเปลี่ยนผ่านโลกโซเชียล แอปพลิเคชัน เพื่อเป็นการตอบโจทย์ด้านการพัฒนาสังคม ถือเป็นโมเดลที่จะเข้าสู่ยุคจากภาคผู้ผลิต

Latest


การเปิดประตูไทยแลนด์ 4.0 เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงโลก โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ นวัตกรรมเปลี่ยนผ่านโลกโซเชียล แอปพลิเคชัน เพื่อเป็นการตอบโจทย์ด้านการพัฒนาสังคม ถือเป็นโมเดลที่จะเข้าสู่ยุคจากภาคผู้ผลิตไปสู่ภาคบริการ ระบบขนส่งจึงเป็นหัวใจหลักในการนำชาติไปสู่การพัฒนา...

ซึ่งมาจนถึงตอนนี้คงไม่มีใคร ไม่เคยได้ยิน คำว่า "ประเทศไทย 4.0" หรือ โมเดลพัฒนาประเทศที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม"

จากการเกิดขึ้นของบริการเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชันเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เป็นการตอบโจทย์ด้านการพัฒนาสังคมในทุกด้าน ทั้งการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนประเทศ และการย้ายจากภาคการผลิตไปสู่การบริการ

ระบบขนส่งของประเทศเรียกได้ว่า เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศจากประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจุบัน ระบบขนส่งไม่ได้รองรับแค่ประชากรภายในประเทศ แต่รัฐต้องคำนึงถึงจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 35 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

ดังนั้นธุรกิจเรียกรถโดยสาร หรือ "Ride-Sourcing" เกิดขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกระบบขนส่งในประเทศ ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร ผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับบริการการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการในรูปแบบแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน พบว่าสาเหตุที่ผู้โดยสารในสหรัฐฯ เลือกใช้บริการผ่านแอปฯ ได้แก่ ชำระค่าโดยสารสะดวก รอรถไม่นานและเดินทางถึงจุดหมายได้เร็วที่สุด รวมไปถึงการขาดระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ สำหรับในประเทศไทยนั้น ปัญหาอันดับหนึ่งยังคงเป็นเรื่อง "ปฏิเสธผู้โดยสาร" จากแท็กซี่ปกติ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจะเจอปัญหา แท็กซี่ปิดมิเตอร์ ราคาเหมา

แง่หนึ่ง รัฐควรมองถึงต้นเหตุของปัญหา เกาให้ถูกที่คัน ว่าที่แท็กซี่ต้องปฏิเสธผู้โดยสารเพราะอะไร เสียงสะท้อนจากแท็กซี่ส่วนหนึ่งคือ ราคาค่าโดยสารที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของแท็กซี่ ทั้งการจราจรที่ติดขัด รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าแก๊ส หรือแม้กระทั่งล่าสุด ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบที่เริ่มประกาศใช้กับโครงการ TAXI OK เมื่อพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องขับรถควบกะมากกว่า 10 ชั่วโมง จึงจะมีรายได้เหลือใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน จึงอาจปฏิเสธไม่ได้ว่า รายได้ที่ไม่พอใช้ส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรัง

จุดนี้เองเป็นต้นตอของปัญหา ที่ทำให้บริการเรียกรถโดยสารเข้ามาตอบโจทย์ได้ถูกจังหวะและกินใจผู้โดยสารส่วนใหญ่ รวมไปถึงคนขับแท็กซี่จำนวนมากที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริการดังกล่าว ซึ่งบริการเรียกรถผ่านแอป ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารได้ดีขึ้น แต่ยังเป็นการลดต้นทุนในการเดินทาง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเเดินทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสาร แชร์พิกัดผู้โดยสารให้คนในครอบครัว มีการประเมินคุณภาพการบริการของผู้ขับ เป็นต้น ยังไม่นับรวมประโยชน์ทางอ้อม ที่ทำให้คนขับแท็กซี่หันมาพัฒนาเพื่อการแข่งขันโดยการปรับปรุงบริการของตน

ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คือ รัฐควรกำหนดกรอบกำกับดูแลที่ชัดเจน คำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภค คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภค ควรมีกรอบกำกับดูแลบริษัทแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสาร ให้ผู้ขับไปจดทะเบียนรถที่ให้บริการผ่านแอพฯ เพื่อให้บริการสาธารณะ และควรมีแนวทางเก็บภาษีที่เหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ ขณะเดียวกันต้องไม่มองข้ามคนขับแท็กซี่ที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ผู้ประกอบการแอปฯ เรียกรถ ก็ควรจะดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบกำหนดที่ทั้งผู้เล่นเก่าและใหม่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการบริหาร บริษัทแกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจประเภท Ride-sourcing ตอบรับข้อเสนอแนะจากทีดีอาร์ไอ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประเทศไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ให้ข้อคิด ถึงแม้แกร็บจะมีบริการหลายประเภท แต่จุดเริ่มต้นของแกร็บมาจากแท็กซี่ เพราะฉะนั้น แกร็บพร้อมที่จะส่งเสริมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พร้อมที่จะประสานงานกับกระทรวงท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวในอาเซียน เดินทางอย่างไร้รอยต่อ ปลอดภัย และสะดวกสบาย

ประเด็นสำคัญ คือ บริการเรียกรถโดยสารผ่านแอปฯ เป็นบริการที่สามารถช่วยส่งเสริมสิทธิในการเดินทางกับกลุ่มคนที่เคยมีอุปสรรคในการเดินทาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการทางสายตา ให้สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

ตอนนี้รัฐรับรู้ทั้งปัญหา ทั้งทางแก้ เหลือเพียงแค่เปิดไฟเขียวไปยังขนส่ง ให้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมดูแล คมนาคม 4.0 จึงอยู่ใกล้แค่เอื้อม ไม่ต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เพียงเปิดใจรับฟังเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ใครนอกจากประชาชนและภาครัฐเท่านั้นเอง.




Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ