บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ผงาดกลับเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังปรับโครงสร้างธุรกิจ เพิ่มศักยภาพองค์กร และเงินทุนที่แข็งแกร่ง ผู้บริหารพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจ มุ่งสู่การเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร หวังสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน
นายกนกศักดิ์ ปิ่นแสง ประธานกรรมการบริหาร และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาเห็นควรให้ WP พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน โดยการปลดเครื่องหมาย SP และให้นำหุ้น WP กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้อีกครั้ง ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป
นายกนกศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบัน WP เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวิลด์แก๊ส” ที่โดดเด่นด้วยระบบการบริหารจัดการที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในทุกระดับ และมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทุกภาคธุรกิจ
ฐานะแข็งแกร่ง
หลังจากที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารและพนักงาน ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ พัฒนาบุคลากร พัฒนาศักยภาพองค์กร จนมีความแข็งแกร่ง ทำให้ผลประกอบการกลับมามีกำไรสุทธิได้อย่างต่อเนื่องและปีนี้มีแผนสร้างคลังกระจายสินค้าแห่งใหม่และรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมฐานลูกค้าทุกภาคธุรกิจ นอกจากนี้ จะเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร เพื่อผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้
ทั้งนี้ WP มีกําไรสุทธิจากการดําเนินงานเป็นเวลา 1 ปี และงวดสะสมก่อนยื่นคําขอ ซึ่งพิจารณาจากงบการเงินประจำปี 59 เท่ากับ 36 ล้านบาท และงบการเงินงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 60 เท่ากับ 108 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น ณ 30 ก.ย.60 เท่ากับ 675 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินและผลดำเนินงานมั่นคงตามสภาพธุรกิจได้ต่อเนื่อง
โดยผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารงานของ WP จำนวน 7 ราย มีหุ้นรวมกัน 285,175,000 หุ้น (ร้อยละ 55 ของทุนชําระแล้ว 518.50 ล้านบาท) ได้ให้คำรับรองต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่าจะไม่นำหลักทรัพย์ออกขายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่หลักทรัพย์กลับมาซื้อขาย โดยได้รับการผ่อนผันให้เมื่อครบกำหนด 6 เดือน สามารถทยอยขายได้ในจำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่ถูกห้ามขาย
ทิศทางธุรกิจสดใส
ด้านนางสาวชมกมล พุ่มพันธ์ม่วง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจของ WP ปีนี้ว่า ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ความต้องการใช้ LPG ที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ตลาดก๊าซ LPG กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง และเมื่อตลาดก๊าซ LPG ยังขยายตัวได้ดี บริษัทจึงมีแผนสร้างคลังกระจายสินค้าแห่งใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ก๊าซที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่อำเภอบางปะกง แบ่งเป็น 2 เฟส (อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มอีก 1 เฟส), จังหวัดขอนแก่น ที่อำเภอบ้านแฮด 1 แห่ง และที่อำเภอท่าพระ 1 แห่ง, จังหวัดสมุทรสงคราม ที่อำเภอบางจะเกร็ง 1 แห่ง และที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 1 แห่ง
รวมถึงจะขยายตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมฐานลูกค้าทุกภาคธุรกิจ ได้แก่ สถานีบริการก๊าซ LPG โรงบรรจุก๊าซ ร้านค้าก๊าซ กลุ่มลูกค้าพาณิชยกรรม คือโรงแรม และภัตตาคารต่างๆ และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โรงงานต่างๆ
สร้างผลตอบแทนยั่งยืน
ทั้งนี้ ทรัพย์สินของบริษัท นอกจากคลังก๊าซ 5 แห่งแล้ว ยังมีโรงบรรจุก๊าซ 11 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีปั๊มหรือสถานีบริการก๊าซ 2 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีบริษัทลูกชื่อ Eagle ที่เป็นเจ้าของรถขนก๊าซมากถึง 160 คัน ซึ่ง WP ถือหุ้น 100% ใน Eagle ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังระบบขนส่งก๊าซด้านอื่นๆด้วย
ขณะที่บริษัทมีหนี้สินต่ำมาก โดยมีหนี้เงินกู้สถาบันการเงินราว 258 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้การค้า ซึ่งเป็น และมีเงินสดหมุนเวียนกว่า 600 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์หรือส่วนแบ่งตลาดยอดขายก๊าซเป็นอันดับ 2 รองจาก ปตท. โดยกลยุทธ์ของบริษัทหลังจากนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการเพิ่มยอดขาย แต่จะเน้นการให้บริการที่ดีกับลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งการขนส่งถึงลูกค้าตรงเวลา การดูแลบริการหลังการขายอย่างครบวงจร มาตรการในการตรวจสอบดูแลถังก๊าซ เป็นต้น “เรามุ่งมั่นพัฒนาเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพองค์กร เพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ทำให้การบริหารจัดการธุรกิจเกิดความคุ้มค่าที่สุด ผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน”.