กสอ. เสริมแกร่งเอสเอ็มอี ปั้นคนรุ่นใหม่ เป็นผู้ประกอบการยุค 4.0

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กสอ. เสริมแกร่งเอสเอ็มอี ปั้นคนรุ่นใหม่ เป็นผู้ประกอบการยุค 4.0

Date Time: 22 ม.ค. 2561 08:45 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • กสอ.เร่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย ปั้นคนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการยุค 4.0 ให้มีความพร้อมก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนวิธีคิดดำเนินธุรกิจ นำไอที-เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ลดต้นทุน ผุดนวัตกรรมใหม่...

Latest


กสอ.เร่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย ปั้นคนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการยุค 4.0 ให้มีความพร้อมก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนวิธีคิดดำเนินธุรกิจ นำไอที-เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ลดต้นทุน ผุดนวัตกรรมใหม่...

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในปี 2561 จะเน้นการสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ทุกระดับในประเทศ เพื่อสร้างผู้ประกอบการ SMEs อัจฉริยะ หรือ Smart SMEs สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการเป็นผู้ประกอบการยุค 4.0 ด้วยการฝึกอบรมเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ เสริมแกร่งด้านนวัตกรรม และ Digital รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า การเพิ่มช่องทางการค้า การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ จะบูรณาการการทำงาน ระหว่างกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคาดหวังว่า SMEs ไทยจะตระหนักถึงการปรับตัวเข้าสู่ SME 4.0 ทำให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลง โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอที และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จนสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังมีนโยบายสนับสนุนและพัฒนา SMEs ภายใต้กลยุทธ์หลัก ‘4 TOOL กับ 1 Strategy’ ประกอบด้วย 1. IT ให้บริการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ 2. Automation การพัฒนาระบบการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต 3. Robot ลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต และ 4. Innovation พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึง 1 Strategy คือการมุ่งพัฒนาการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรม (Industry cluster)

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือศูนย์ ITC ขึ้น 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs ในการให้บริการคำปรึกษาแนะนำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต รวมถึงยังให้บริการ Co-Working Space การบริการเครื่องจักรกลาง ที่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรขนาดใหญ่ให้ยืมเครื่องจักรที่ทันสมัยมาให้บริการแก่ SMEs สามารถเข้าไปใช้งานได้ พร้อมประสานความร่วมมือไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขยายบริการศูนย์ ITC ไปยังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และในอนาคตอีกด้วย

ส่วนด้านของเงินลงทุน ทางกรมฯ ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทย ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ SMEs ที่มีศักยภาพ รวมถึง SMEs รายย่อย อีกกว่า 8,000 ล้านบาท พร้อมให้ความรู้เกี่ยวการบริหารธุรกิจ และบริหารเงินให้เป็นระบบ เช่น การจัดทำบัญชีเดียว รวมถึงการเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการใช้ไอที หรือ อีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีโครงการพี่เลี้ยงทางธุรกิจ เชิญองค์กรรายใหญ่ที่มีศักยภาพ และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ถ่ายทอดแนวความคิดและประสบการณ์แบบมืออาชีพ สนับสนุนเทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงเงินสนับสนุนในรูปแบบกองทุนแบบให้เปล่า (Angel Fund) สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ ตลอดจนส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์ม T-Goodtech (ระบบเชื่อมโยงธุรกิจและผู้ประกอบการไทย) เพื่อช่วยในการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับต้นน้ำ-ปลายน้ำ เชื่อมต่อสู่แพลตฟอร์ม J-Goodtech ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้สินค้า SMEs ไทยเข้าไปเชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็นห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็ง ไม่ใช่เพียงแต่ภายในประเทศ แต่ยังรวมถึงในระดับภูมิภาค และระดับโลกอีกด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ