ธุรกิจตั้งใหม่ส.ค.พุ่ง 15% จำนวน 7,159 ราย สูงสุดรอบ 4 ปี ส่งผลให้ 8 เดือนได้แล้ว 4.9 หมื่นราย "พาณิชย์" เชื่อทั้งปี เกินเป้า 6.6 หมื่นราย เหตุเศรษฐกิจไทยขาขึ้น มั่นใจธนาคารโลก จัดอันดับความยากง่ายทำธุรกิจไทยต.ค.นี้ดีขึ้น...
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถิติการจดทะเบียนธุรกิจเดือนส.ค.60 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่จำนวน 7,159 ราย ถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 4 ปี หรือเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.59 โดยมีทุนจดทะเบียนจัดตั้งมูลค่า 47,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 145% ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 60 มีจำนวน 49,000 ราย เพิ่มขึ้น 14% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนทุนจดทะเบียนจัดตั้ง มูลค่า 232,000 ล้านบาท
สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรกในเดือนส.ค.60 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 621 ราย รองลงมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 394 ราย ซึ่งทั้งสองธุรกิจเป็นผลจากการนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และเชื่อว่าหลังจากการที่กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) นำนักธุรกิจญี่ปุ่นเดินทางมาไทยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ จะทำให้มีการจดทะเบียนธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เป็นอันดับ 3 ที่ 218 ราย เป็นผลจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว, ธุรกิจการขนส่งสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 142 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 138 ราย เป็นผลจากการผลักดันนโยบายสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพของรัฐบาล ทำให้มีธุรกิจให้คำปรึกษาเกิดขึ้นมารองรับกลุ่มสตาร์ทอัพ
ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการเดือนส.ค. 60 มีจำนวน 1,747 ราย เพิ่มขึ้น 0.5% เทียบกับเดือนส.ค.59 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกมูลค่า 7,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% โดยธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้าง 157 ราย อสังหาริมทรัพย์ 102 ราย ค้าสลาก 78 ราย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 45 ราย และผลิตไฟฟ้า 42 ราย ขณะที่การจดทะเบียนเลิกกิจการช่วง 8 เดือนมีจำนวน 9,862 ราย ลดลง 1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าวว่า แนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทั้งปี 60 กรมตั้งเป้าจัดตั้งเพิ่มไว้ที่ 66,000 ราย แต่คาดว่า น่าจะได้มากกว่า 66,000 ราย เพราะขณะนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น ประกอบกับ มาตรการของภาครัฐ ด้านภาษีเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ได้แก่ มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี), มาตรการภาษีสนับสนุนการจัดทำบัญชีของเอสเอ็มอี, การผลักดันโครงการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของภาครัฐ ทำให้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในเดือนต.ค.นี้ ที่ธนาคารโลก จะประกาศผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ประจำปี 61 นั้น มั่นใจว่า ไทยจะได้รับการจัดอันดับดีขึ้น เพราะได้ลดขั้นตอน ระยะเวลาในการจดทะเบียน และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจาก 25.5 วัน เหลือ 2.5 วัน และในปีนี้ กรมฯจะพัฒนาในด้านคุณภาพให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง.