7 ลักษณะ “หัวหน้างาน” ที่ลูกน้องชิงชัง ใช้อำนาจผิดวิธี “ไม่ฟังใคร ฉันใหญ่สุด” 

Business & Marketing

Leadership & Culture

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

7 ลักษณะ “หัวหน้างาน” ที่ลูกน้องชิงชัง ใช้อำนาจผิดวิธี “ไม่ฟังใคร ฉันใหญ่สุด” 

Date Time: 1 พ.ย. 2567 12:34 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • 7 ลักษณะ “หัวหน้างาน” ที่ลูกน้องชิงชัง ใช้อำนาจผิดวิธี “ไม่ฟังใคร ฉันใหญ่สุด” ปัญหาบั่นทอนสุขภาพจิต บันไดแห่งความพังขององค์กร

Latest


“เภสัชกรหนุ่มตัดสินใจลาโลกหลังซึมเศร้า เผชิญแรงกดดันในที่ทำงาน” กลายเป็นอีก 1 ข่าวที่ชวนให้สังคมไทยกลับมาตระหนักและให้ความสำคัญกับประเด็น Toxic Workplace หรือ “Toxic People” การทำงานที่เป็นพิษ แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศและบุคคลที่คอยกัดกร่อนจิตใจจนส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตตามมา

เจาะสถิติคนไทยมีปัญหาเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูง โดยวัยทำงาน 49.1% ระบุอยู่ในภาวะฝืนทำงาน โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ที่พบเจอกันมากที่สุดคือการเผชิญกับหัวหน้างานที่ขาดความเป็นผู้นำ ชอบใช้อำนาจแบบผิด ๆ ชอบพูดจาเสียดสี ทำลายความรู้สึกและความมั่นใจ บั่นทอนศักยภาพความเป็นทีม ซึ่งนี่ถือเป็นหายนะเริ่มต้นที่หากองค์กรใดไม่ให้ความสำคัญและแก้ไข อาจนำไปสู่องค์กรเป็นพิษที่ไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย

8 หัวหน้างาน สุดยี้ ในสายตาลูกน้อง

เบื้องต้นข้อมูล jobsDB แพลตฟอร์มจัดหางานชื่อดังได้เผยแพร่ไว้ว่า ตำแหน่งหัวหน้างานมีบทบาทสูง อย่างไรก็ดี การก้าวขึ้นมารับภาระหน้าที่ใหม่ไม่ได้วัดได้จากฝีมือการทำงานเท่านั้น หากแต่ต้องบริหารดูแลพนักงานหลายชีวิต หลายคนประสบความสำเร็จ แต่หลายคนก็พลาดพลั้ง ซึ่ง 8 หัวหน้าสุดยี้ในสายตาลูกน้องมี ดังนี้

1. ไม่มีความเป็นผู้นำ

หัวหน้าไม่มีภาวะผู้นำจะเป็นคนที่คล้อยตามความคิดเห็นของทุกคน ใครจะเสนออะไรหรือต้องการการตัดสินใจ จะไม่สามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน เน้นความคลุมเครือ พูดจาเหลาะแหละ ทีเล่นทีจริง ไม่ปกป้องหรือให้เหตุผลสนับสนุนลูกน้อง

2. เข้าข้างพวกเดียวกัน (ไม่ยุติธรรม)


หัวหน้าที่ไม่มีความยุติธรรมจะทำให้ลูกน้องมีอคติกับตัวหัวหน้า ไม่ให้ความเคารพนับถือ เนื่องจากพฤติกรรมความไม่ยุติธรรมทั้งในเรื่องความลำเอียง การเล่นพรรคเล่นพวก การเอาแต่ใจตนเอง โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา จนทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าเป็นคนสองมาตรฐาน เหล่านี้มีผลต่อการทำงานในตำแหน่งหัวหน้าทั้งสิ้น

3. มนุษย์ปัดความรับผิดชอบ ปัดความผิด

หัวหน้าประเภทเอาดีเข้าตัว ปัญหาหรือความผิดปัดให้คนอื่นรับผิดชอบ เช่น “ฝ่ายเราไม่ได้ทำ น่าจะผิดมาจากฝ่ายอื่น” หรือ “ลูกน้องคนนี้ไม่ได้เรื่องทำงานผิดพลาดตลอด” เป็นต้น หัวหน้าที่ดีควรจะรับผิดและรับชอบในทุกเหตุการณ์เพราะถือว่าเป็นผู้ดูแลงานและสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำ ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาดใด ๆ ก็ตาม ทั้งที่อาจจะเกิดจากเราหรือลูกน้อง ซึ่งทำให้งานเสียหาย ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะถือเป็นหน้าที่ของหัวหน้า ไม่ใช่โยนความผิดไปให้คนอื่นเพื่อเอาตัวรอดไป

4.วางแผนงานไม่เป็น

หัวหน้าประเภทเออออ ว่าอะไรว่าตาม ไม่ว่าจะประชุมเล็กหรือใหญ่ ใครเสนออะไรก็เห็นด้วย คิดเหมือนกันเลย ที่คิดมาก็ประมาณนั้น พฤติกรรมเหล่านี้แสดงถึงความไม่มืออาชีพในการประชุมวางแผนงาน หากต้องการให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานเชื่อมั่นในการทำงาน ควรจะวางแผนงานมาล่วงหน้า จากประสบการณ์การทำงานที่มีบวกกับไอเดียใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอให้ทุกคนเห็นความสามารถที่แท้จริงของคุณ

5. ปัญหามา หายหน้าตลอด (แก้ปัญหาไม่เป็น)
หัวหน้าประเภทหลบหน้า หลบตา เมื่อเกิดปัญหาก็รอให้ลูกน้องรับหน้ากันไป หัวหน้าประเภทนี้อาจจะมีความสามารถในการทำงานด้านต่าง ๆ ดี แต่อาจจะไม่พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา เพราะอาจจะไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวผิด ไม่กล้าแก้ปัญหา หรือกลัวว่าใครจะมองว่าเป็นการทำงานที่ผิดพลาดของตนเอง

6. งานไหนได้หน้า นางขอมาพรีเซนต์ (ทำงานเอาหน้า)

มีหัวหน้าประเภทหน้าที่หลักคือการฉกฉวยและโชว์ผลงาน เป็นพฤติกรรมอีกอย่างที่ลูกน้องเห็นพ้องต้องกันว่าควรร้องยี้ แม้ว่างานที่ทำจะเป็นงานภายใต้การสั่งงานของหัวหน้า แต่ก็ควรให้เกียรติผู้ที่ผลิตผลงานให้ได้นำเสนอผลงานของตนเอง โดยมีหัวหน้าเป็น back up คอยให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่แย่งงานไปเสนอแล้วรับเป็นความดีความชอบของตนเองแบบไม่ให้เครดิตใคร

7. ไม่ฟังใคร ตัวเองใหญ่สุด (ใช้อำนาจผิดวิธี)


ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นมักจะมากับอำนาจที่มากขึ้น หัวหน้าบางคนมีนิสัยที่เปลี่ยนไปหลังได้เลื่อนตำแหน่ง เช่น ถือเนื้อถือตัว เจ้ายศเจ้าอย่าง ดูถูกเพื่อนร่วมงาน ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง พูดจาใหญ่โตไร้มารยาท ไม่ให้เกียรติลูกน้อง พฤติกรรมเหล่านี้ควรพิจารณา แม้ว่าตำแหน่งจะสูงขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้อำนาจข่มเหงลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน ยิ่งตำแหน่งสูงมากยิ่งต้องระมัดระวังการแสดงออกต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพราะมีคนจำนวนมากกำลังจ้องมองมาที่เรา จะได้ความรัก ความเคารพ หรือการให้เกียรติจากลูกน้องหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่สิ่งที่แสดงออกไป

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมยี้ ๆ อีกหลายอย่างที่ควรระวัง เช่น มนุษย์เต่า ชอบเข้าไปอยู่แต่ใน comfort zone ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ทำอะไรในรูปแบบใหม่ ๆ หรือหัวหน้าประเภทแบ่งชนชั้น หยาบคาย ไร้มารยาท ชอบจับผิด ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว เป็นต้น

ที่มา: jobsdb.com

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ